Saxsociety

 “สังคมของคนเป่าแซกโซโฟนในประเทศไทย”

 Saxsociety “สังคมของคนเป่าแซกโซโฟนในประเทศไทย”

           

            หากจะแปลความหมายตรงตัวกับคำๆนี้ คงจะหนีไม่พ้น คำว่า “สังคมของคนเป่าแซกโซโฟนในประเทศไทย”

 

            แซกโซโฟน เป็นเครื่องดนตรีที่มีความเป็นทั้งอัตลักษณ์ และ เอกลักษณ์อย่างชัดเจน นั่นคงจะเป็นที่มาของคำว่าสังคมแซกโซโฟนในประเทศไทย   เมื่อมองสังคมผ่านคำว่าแซกโซโฟน ทำให้ ได้เห็นหลายมุมมอง จากที่เคยคิดว่า แซกโซโฟนเป็นเครื่อง solo หรือ เล่นคนเดียวนั้น กลับได้เห็นมุมมองอื่นๆ ตามมา จากเล่นคนเดียว ก็เพิ่มเป็นสองคน สามคน สี่คน และยี่สิบคนได้อย่างไม่ยากเย็น นั่นแปลว่า แซกโซโฟนนำพาให้สังคมดนตรี เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยาก  เพราะดนตรีคือกิจกรรมทางสังคมที่ดีมากที่สุดอย่างนึง ที่จะร่วมความพร้อมเพรียง ความสมัครสมานสามัคคี รวมจิตใจคนให้เป็นหนึ่งได้อย่างแน่นอน

 

              สังคมของนักแซกโซโฟนจึงก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุคที่สื่อโซเชียลรุ่งเรือง เป็นยุคดิจิตอลที่นำพาคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนในชีวิต เพียงแค่เห็นรูปโปรไฟล์ว่าถือแซกโซโฟนก็กดขอ “เพิ่มเพื่อน” อย่างไม่ต้องคิดมากได้เลย แม้กระทั่งกลุ่มขายเครื่องดนตรี ก็สามารถเช็คประวัติผู้ขายก่อนตัดสินใจโอนเงินได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที อย่างไม่ยากเย็นเท่าใดนัก

 

            ในแง่มุมของวิชาการดนตรี แซกโซโฟนได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษามาเป็นระยะเวลานึง นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง ซีซันส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) ได้เข้าฉายเมื่อปี 2549 (2006) เป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของนักศึกษาวิชาดนตรีในระดับอุดมศึกษา อิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ ผู้ปกครอง และนักเรียนหลายๆคนที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่านั้น มีแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากคำว่า “จบดนตรีแล้วจะไปทำงานอะไร” กลายเป็น “ลองเรียนดนตรีมั้ย น่าสนใจนะ” จากพื้นเพเดิมของคนไทย คนส่วนใหญ่จะให้ความเคารพนับถือครูบาอาจารย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยิ่งเปรียบเสมือนการยกระดับ “ครูสอนดนตรี” ในบ้านเราได้รับการเชิดหน้าชูตาไปด้วย เพราะสังคมถือว่า “เป็นผู้มีความรู้เฉพาะทาง” และเป็นสอนความรู้ให้บุตรหลานของตน หวังเพียงให้บุตรหลานของตนนั้น ประสบความสำเร็จในอนาคตที่ตนเองเลือกทางเดิน

 

          หากจะกล่าวถึงครูสอนแซกโซโฟนในปัจจุบัน ผมมองว่าในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ มีครูที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศค่อนข้างมาก และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเวทีโลกเอง นักดนตรี/ศิลปินไทย ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น รศ. ดร. ภาธร ศรีการนนท์, อ. กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ (อ. วิลเลี่ยม), อ. ปิติ เกยูรพันธ์, อ. เทวัญ ทรัพย์แสนยากร

 

         ในปัจจุบันแซกโซโฟนนับได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีเครื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ดังจะเห็นได้จากครูสอนแซกโซโฟนซึ่งเป็นครูที่มีคุณภาพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอันเนื่องมากจากความต้องการเรียนที่สูงขึ้นเช่นกัน เปรียบเทียบกับในช่วงก่อนหน้านี้ เครื่องดนตรีอันดับแรก ๆ ที่ผุ้สนใจในการเรียนดนตรีเลือก มักจะหนีไม่พ้นเครื่องดนตรียอดฮิตอย่างเช่น เปียโน กีตาร์ ส่วนในไม่กี่ปีที่ผ่านมาตัวเลือกจะมีแซกโซโฟนเข้ามาด้วยเสมอ  

 

           ต่อเนื่องจากย่อหน้าที่แล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ได้รับความนิยมสูงขึ้นในสังคมไทยคือ ความยืดหยุ่นในการบรรเลง กล่าวคือ ไม่ว่าจะดนตรีแนวไหนแซกโซโฟนก็สามารถเล่นได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น แจ๊สบิ๊กแบนด์          ออเครสตร้า ไปจนถึง วงลูกทุ่ง หมอลำ ทำให้ผู้ที่มีรสนิยมทางดนตรีที่หลากหลายเลือกเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันนี้  

 

          สรุปแล้วทิศทางของวงการแซกโซโฟนในประเทศไทยนั้นกำลังไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นอย่างมากทั้งจากสื่อโซเชียลที่เข้าถึงผู้คนหมู่มากในยุคนี้ ทัศนคติต่อวงการดนตรีที่ดีขึ้น ศิลปินและบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งบทบาทในดนตรีแนวต่าง ๆ ของแซกโซโฟน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทำให้ “สังคมคนเป่าแซกโซโฟน” ในบ้านเราแข็งแกร่งขึ้นทั้งสิ้น สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นศิลปินไทยทั้งแซกโซโฟนและเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ก้าวเข้าไปสู่ระดับนานาชาติกันมากขึ้น      

 

ตัวอย่าง

Saxsociety “สังคมของคนเป่าแซกโซโฟนในประเทศไทย”

 

Thailand Saxophone Summit #1

Thailand Saxophone Summit #2

Thailand Saxophone Summit #3