Saxophonethai

แซกโซโฟนไทย ฝีมือคนไทย

Bamboo Saxophone
แซกโซโฟนไม้ไผ่
" วิบูลย์ ตั้งยืนยง "

 

           " วิบูลย์ ตั้งยืนยง " วัย 74 ปี เล่าว่า มีอาชีพหลักเป็นช่างแว่นตา มีร้านแว่นตาเป็นของตัวเอง การมาทำแซกโซโฟนไม้ไผ่นั้น เริ่มแรกเป็นงานอดิเรก เพราะชื่นชอบเรื่องดนตรี โดยที่ไม่มีความรู้ทางช่างที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรีเลย แต่อยากทำอะไรให้แปลกกว่าขลุ่ยที่ตนเองเล่นเป็น เลยคิดที่จะทำเป็นแซกโซโฟนขึ้นมา ด้วยการดูวิธีการจากนิตยสารต่างชาติ ใช้เวลานานกว่าจะลองผิดลองถูกมาได้

           เจ้าของร้านแว่นตาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยึดอาชีพทำแซ็กโซโฟนเป็นรายได้เสริมมา ๑๐ กว่าปี ย้อนถึงแรงบันดาลใจในวันที่เห็นชาวต่างชาติทำแซ็กโซโฟนไม้ไผ่จากรายการโทรทัศน์

           แรก ๆ วิบูลย์ทดลองเป่าโดยเทียบเสียงดนตรีจากคีย์บอร์ด แล้วพัฒนาใช้เครื่องจูนเนอร์เพื่อให้ได้ช่องเสียงที่มาตรฐานแล้วทำแพตเทิร์นเก็บไว้ หากทำครั้งถัดไปก็เพียงนำแพตเทิร์นทาบเจาะ

           จากเครื่องดนตรีพื้นฐานง่าย ๆ ใช้ไม้ไผ่กระบอกเดียวเป็นหลายกระบอกซับซ้อนขึ้น ในที่สุดปี ๒๕๔๓ แซ็กโซโฟนไม้ไผ่สัญชาติไทยตัวแรกก็สำเร็จ แม้จะยังไม่สวยนัก ปากลำโพงสั้นดูคล้ายแตรยักษ์มากกว่า แต่คือความภาคภูมิใจยิ่งของคนที่รังสรรค์ลำไผ่ธรรมดาให้กลายเป็นเครื่องดนตรีสากลแผดเสียงดังได้

 

................................................................................................................................................................................................................................................................ 

Vibrato

แซกโซโฟนพลาสติกสัญชาติไทย 

 

           " Vibrato " (ไวเบรโต) คือแบรนด์แซกโซโฟนของคนไทย เจ้าของสิทธิบัตรแซกโซโฟนโพลีเมอร์ที่ฉีดขึ้นรูปแม่พิมพ์ตัวแรกของโลก น้ำหนักเบา กันน้ำ 100% ราคาเป็นมิตร ที่สำคัญ เสียงดีชนิดที่หลับตาฟังแล้ว คุณจะไม่มีทางแยกออกว่านั่นคือเสียงที่มาจากแซกโซโฟนทองเหลืองหรือพลาสติก

           “พลาสติกในอุดมคติที่เหมาะสมแก่การใช้ทำแซกโซโฟน คือพลาสติกชนิดที่หยุดแรงสั่นสะเทือนจากความถี่ของลิ้นเป่าได้เร็วมาก” พี่เอ่อเล่าการเคลื่อนตัวของเสียงให้เห็นภาพง่ายๆ

           หลังจากเป่าลม ความถี่ของลิ้นจะทำให้เกิดการสั่น โดยพลังงานจะถ่ายทอดอยู่ภายในตัวแซกโซโฟน ซึ่งหากรับแรงสั่นสะเทือนแล้วหยุดเอาไว้ได้ พลังงานจะพุ่งไปที่ปากแซกโซโฟนได้เร็ว

           จากการค้นหาสารตั้งต้นตระกูลโพลีเมอร์ พี่เอ่อพบว่าอะคริลิกคือคำตอบ เพราะมีโมเลกุลอยู่ห่างกันมากพอจึงมีพื้นที่รับพลังงานความถี่ที่สั่นสะทือนโดยได้ไม่สะท้อนออกมาที่ผิวภายนอก แต่จำเป็นต้องระวังว่าหากเก็บรับความถี่และแรงสั่นที่มากเกิน อะคริลิกก็อาจจะแตกได้

           “แซกโซโฟนที่ทำจากอะคริลิกเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อ 50 ปีที่แล้วโดย Grafton ซึ่งใช้วิธีหล่อแบบแล้วเทพลาสติกเข้าไป ประกอบกับชิ้นส่วนกลไกลเล็กๆ จากทองเหลืองไขน็อตเจาะเข้าไปในตัวพลาสติก เมื่อเจอแรงสั่นสะเทือนจากการเป่าก็ทำให้พลังงานวิ่งคนละทิศคนละทาง ปัจจุบัน แซกโซโฟนของ Grafton รุ่นที่เป็นพลาสติกสีครีมมีราคาขายอยู่ที่ 1,600,000 บาท”

           Vibrato จึงกลายเป็นแซกโซโฟนแบรนด์แรกของโลกที่ผลิตด้วยการฉีดพลาสติกขึ้นรูปแม่พิมพ์ (Mole Injection) นั่นคือ มีแม่พิมพ์อัดให้ติดกันด้วยแรงดัน 20 ตัน จากนั้นฉีดพลาสติกเข้าไป ข้อดีที่ทำให้วิธีนี้แตกต่างจากวิธีการเดิม คือการกำหนดแรงดันจึงได้พลาสติกที่มีความหนาแน่นสูงกว่า แม้แต่พรินเตอร์ก็ทำไม่ได้ “เคยมีคนขอให้ส่งแบบเพื่อทำ 3D Printing ด้วย จริงๆ ก็ทำได้แต่เสียงที่ออกมาจะไม่เหมือนต้นแบบ 3D Printing มีประโยชน์มากเมื่อเราอยากทดลองเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้นส่วน”

           “เราสนุกกับการแก้โจทย์และคิดอะไรใหม่ๆ ใส่แซกโซโฟนของเราจนออกมาถูกใจถึงสั่งขึ้นแม่พิมพ์สำหรับผลิต Vibrato ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาทุกเช้า ได้ทดลองฟังเสียงของแซกโซโฟนจากชิ้นส่วนใหม่ๆ อย่างวันนี้ที่เราทำ Tenor สำเร็จแล้วเราอาจจะสนุกน้อยลงไป แต่ก็มีอะไรให้คิดค้นอยู่ตลอด อนาคตเราอยากทำแซกโซโฟนขนาดโซปราโนไว้สำหรับพกพา”

................................................................................................................................................................................................................................................................