แปลบทสัมภาษณ์ Ornette Coleman 8 พ.ย. 1987

แปลบทสัมภาษณ์ Ornette Coleman 8 พ.ย. 1987
บทสัมภาษณ์นี้ปรากฏขึ้นในนิตยสาร “Cadence” เดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1995
ถูกอัดเมื่อวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1987
ที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
หากผู้แปล แปลส่วนไหนผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ผู้สัมภาษณ์: คุณเคยบอกว่าคุณมีสายสัมพันธ์บางอย่างกับ เอ็ด แบล็คเวลล์ (Ed
Blackwell) และเดนาร์โด (Denardo Coleman) ลูกชายของคุณ
แตกต่างกับมือกลองคนอื่นๆ
ออร์เน็ต โคลแมน: ใช่ ผมเล่นดนตรีกับแบล็คเวลล์มากว่า 20 ปี
เราเล่นด้วยกันตั้งแต่ผมมาลอสแองเจลิสครั้งแรก
แบล็คเวลล์เล่นกลองราวกับว่าเขาเล่นเครื่องลมไม้
จริงๆแล้วซาวด์ของเขาเหมือนกับว่ากลองพูดได้เป็นภาษา
และผมคิดว่ามันเป็นภาษาที่เหมาะกับเครื่องประเภทจังหวะมาก

ไม่บ่อยนักที่คุณจะได้ยินจังหวะดนตรีเป็นภาษา กลองก็เปรียบเสมือนโทรศัพท์ ที่ใช้ส่งสาร...
ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มีแค่แบล็คเวลล์ บิลลี่ (น่าจะเป็น Billy Higgins) และเดนาร์โด
ที่ทำได้ ตอนที่พวกเขาเล่นกับผม... เขาเล่นราวกับว่ากลองมีชีวิต
ผมไม่ต้องคอยสั่งให้พวกเขาช่วยคุมจังหวะซัพพอร์ตผมเลย
ผมปล่อยให้เขาเล่นตามแบบของเขา ผมชอบนักดนตรีที่เล่นกับผมอย่างเป็นตัวของตัวเอง
เป็นอิสระ ขอแค่ไปร่วมกันกับผมได้
ผู้สัมภาษณ์: เมื่อคุณพบกับแบล็คเวลล์ครั้งแรกที่แอลเอ
ผมคิดว่าคุณต้องมีปัญหาทางด้านดนตรีบ้างแน่ๆ เล่าให้ฟังได้ไหม?
ออร์เน็ต โคลแมน: ในทางดนตรี คุณมีสิ่งที่เรียกว่าซาวด์ คุณมีความเร็ว
คุณมีคุณภาพโทนเสียง มีเรื่องคลื่นเสียง และไม่ว่าจะมากหรือน้อย คุณต้องมีความละเอียด
แต่ส่วนมากคนที่เล่นดนตรีทั่วๆไป พวกเขาเล่นแค่มิติเดียว คือใช้แค่ โน้ต และจังหวะ
อย่างที่บอก ตอนนี้ผมกำลังสนทนากับคุณ ผมกำลังพูด แต่ผมก็กำลังคิดไปด้วย รู้สึกไปด้วย
ได้กลิ่นไปด้วย ขยับไปด้วย เหมือนกับที่คุณกำลังสัมภาษณ์ผม
ทั้งผมและคุณทำมากกว่าแค่พูดคุยกัน
สำหรับผม การมีอยู่ของมนุษย์มันมีหลายระดับ ไม่ใช่แค่สองมิติ
ไม่ใช่แค่การมีอยู่ด้วยการกระทำหรือคำพูด สิ่งเหล่านั้นมันแค่ผลลัพธ์เมื่อผู้คนมองเห็น
หรือได้ยินสิ่งที่เราทำ แต่การมีอยู่ของมนุษย์มันมากกว่านั้น
นั่นแหละสิ่งที่ผมอยากให้นักดนตรีที่เล่นกับผมเป็น มีหลายมิติ
ผมไม่อยากให้เขาเอาแต่ตามผมต้อยๆ ผมอยากให้เขาเป็นอิสระ ตามรูปแบบของตัวเอง
แต่ต้องไปร่วมกับผมได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เดนาร์โด บิลลี่ และแบล็คเวลล์
ดีกว่าทุกคนที่ผมเคยพบ
ผู้สัมภาษณ์: คุณบอกว่า ดนตรีก็เหมือนโทรศัพท์
ถ้าอย่างงั้นก็แสดงว่าคุณวาดภาพมันเป็นเครือข่ายสัญญาณ เป็นสายโทรศัพท์ที่เชื่อมกัน
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ใช่ ผมคิดว่าซาวด์ และแสงสี เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่ง....
ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเชื้อชาติใด การศึกษาระดับไหน หรือเป็นคนมีความบกพร่อง...
คุณก็สามารถใช้สองสิ่งนี้ได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ผมหมายถึงว่า ถ้าคุณตัดสินใจออกไปวันนี้
ซื้อเครื่องดนตรีสักตัว แล้วเล่นอะไรก็ตาม
ไม่มีใครสามารถบอกคุณได้ว่าจะเล่นอย่างไรยกเว้นตัวคุณ
ดังนั้นผมคิดว่าส่วนประกอบเหล่านี้ ไม่ว่าจะซาวด์ และแสงสี มันยิ่งกว่าความเสมอภาค
มันคือส่วนหนึ่งขอชีวิตที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์
ผู้สัมภาษณ์: ตอนผมอยู่เกรด 8 (ม.2) ผมได้เครื่องดนตรีมาชิ้นหนึ่ง...คลาริเน็ต
สมมติว่าหลังจากนั้น 2-3 ปีต่อมา ผมไปตามหาคุณที่นิวยอร์ก
อยากให้คุณสอนอะไรบางอย่าง คุณจะบอกอะไรกับผม

ออร์เน็ตต์ โคลแมน: เวลามีคนอยากให้ผมสอนอะไรบางอย่าง ผมมักจะถามเขากลับว่า
“พวกคุณอยากจะรู้อะไรล่ะ...ปรัชญาหรือ?” ผมคิดว่ามีผู้คนมากมายข้างนอกนั่นที่เล่นดนตรี
แต่โดยพื้นฐานแล้ว ทุกคนมีบางสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาเล่นดนตรีต่อไป ดังนั้น
ถ้าคุณมาหาผม ผมจะถามว่า “คุณอยากเขียนเพลงไหม”
“คุณอยากเล่นอิมโพรไวซ์หรือเปล่า?” “ทำไมคุณถึงเล่นเครื่องนี้ล่ะ?” หรือ
“คุณอยากทำอะไร?”
แทนที่ผมจะสอนบทเรียนสำหรับมือใหม่จำนวนมาก
ผมว่าสอนให้เขารู้ดีกว่าว่าเขาอยากจะทำอะไร แล้วค่อยสอนพื้นฐานของเรื่องนั้นๆ
ไม่ว่าจะเป็นการโซโล่ การอ่านโน้ต อย่างไรก็ตาม
ครูส่วนใหญ่จะสอนนักเรียนของเขาไปเป็นลำดับขั้น ไต่ไปทีละระดับ ผมไม่คิดว่ามันจะได้ผล
สำหรับผมทางที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาอย่างรวดเร็วคือ ถ้าคุณพูดว่า “ผมอยากเล่นได้แบบคุณ”
ผมจะพูดว่า “โอเค งั้นมาลุยกันเลย” นั่นแหละผม

ผู้สัมภาษณ์: เล่าให้ฟังหน่อยว่าอะไรที่ทำให้คุณเริ่มเล่นดนตรี?
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: จริงๆแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนประถม ผมเห็นแซกโซโฟนตัวหนึ่ง
เห็นวงดนตรีมาเล่นที่โรงเรียน แล้วชายคนหนึ่งก็ขึ้นโซโล่แซกซ์ นั่นทำให้ผมพูดกับตัวเองว่า
“นั่นแหละ มันอัศจรรย์จริงๆ!” ผมเลยถามแม่ผมว่า ผมอยากได้เครื่องดนตรีสักชิ้น
แม่ผมก็ตอบว่า “ได้ ถ้าลูกเก็บเงินด้วยตัวเอง” ดังนั้นผมเลยออกไปเป็นเด็กขัดรองเท้า
เก็บเงินอยู่ประมาณ 3 ปีด้วยกัน จนวันหนึ่งแม่ผมบอกให้ผมไปดูใต้เตียง
ปรากฏว่าผมเจอแซกซ์อยู่ใต้นั้นและผมดีใจมาก ผมเล่นมันดีพอๆกับที่เล่นเมื่อคืนเลย
สำหรับครั้งแรก ผมพูดจริงๆ

ผมไม่คิดว่าคุณต้องทำความรู้จักดนตรี ผมคิดว่าทุกคนมีดนตรีเป็นของตัวเอง
ผู้สัมภาษณ์: หมายความว่า คุณมีดนตรีอยู่ในหัว แล้วเล่นมันออกมา
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ถูกต้อง นั่นคือเหตุผลที่ผมเป็นมือโปร
ไม่มีใครต้องเรียนเพื่อหัดสะกดคำ หรือหัดพูด ถูกไหม? เวลาคุณเห็นเด็กน้อยคุยกับผู้ใหญ่
เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาพูดอะไรออกมา แต่เขารู้ว่าพูดอะไรออกมาแล้วจะให้ผลอะไร
ดนตรีก็เป็นเช่นนั้น ถ้าคุณตัดสินใจจะเล่น หรือจะเขียนเพลง คุณก็ต้องหาข้อมูล มีข้อมูล
แต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็คือคุณเล่นดนตรี หรือเมื่อคุณเขียนเพลง ผลลัพธ์ก็จะมีคนเอาไปเล่นอยู่ดี
ดังนั้นถ้าคุณปลดปล่อยตัวเอง เล่นดนตรีแล้วมองข้ามสิ่งต่างๆ ไป
คุณจะสามารถยิ่งใหญ่พอๆกับคนที่ใช้เวลากว่าสี่สิบปีเพื่อหาคำตอบสิ่งเหล่านี้เสียอีก
ผมคือโปรเรื่องความเป็นมนุษย์ เรื่องของการแสดงออกทางความคิดในทุกด้าน
ผู้สัมภาษณ์: แทนที่จะให้นักดนตรีเล่นคีย์ตามเพลง คุณกลับแนะนำให้เล่นคีย์ของตัวเอง
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ผมเขียนหนังสือทฤษฎีที่ชื่อว่า “Harmolodics”
ผมค้นพบว่าเราสามารถเปลี่ยนกุญแจเสียงต่างๆ ให้เป็นเสียวเดียว ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณอยู่ด้านหลังประตูที่ปิด แล้วผมได้ยินเสียงพูดคุณ
ผมสามารถรู้ได้เลยว่าเป็นคุณทั้งที่ผมไม่เห็นหน้า คุณคิดดูว่าเสียงเนี่ย
สามารถระบุตัวตนของมันเอง ได้มากกว่านั้นอีก วิเศษใช่ไหม
ผมค้นพบว่าคนทุกคนมี “มูฟโด” เป็นของตัวเอง เมื่อคุณนำเสียง
หรือไอเดียมายำรวมกับสิ่งต่างๆ ถ้าไอเดียคุณอยู่ถูกที่ถูกทาง มันจะหาตำแหน่งให้ตัวมันเอง
คุณไม่ต้องห่วงเรื่องลำดับว่าจะเป็นที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ตัวเลข
เรื่องตัวเลขไม่เกี่ยวกับการจัดตำแหน่ง
นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะบอก เมื่อเราพูดถึงกันเรื่องซาวด์ ผมคิดว่าทุกๆคน
ไม่ว่าจะเล่นดนตรีหรือไม่เล่นดนตรี พวกเขามีซาวด์ของตัวเอง สิ่งที่เรากำลังพูดถึง
ไม่สามารถถูกทำลายลงได้ มันเหมือนกับเป็นพลังงาน ซาวด์ของคุณ
เสียงพูดของคุณมันมีความหมายกับทุกคนมากกว่าว่าพรุ่งนี้คุณจะถูกมองเป็นยังไง เช่น
คุณอาจจะไว้หนวดเครา หรือโกนผม ผู้คนจะพูดว่า “คุณเป็นใคร ผมจำไม่ได้”
แต่เมื่อคุณเอ่ยปากพูด พวกเขาจะทำคุณได้ทันที ก็เหมือนกัน
มันสุดยอดมากที่ทุกคนมีเป็นของตัวเอง
มีเพียงพวกนักแสดงเท่านั้นที่พยายามปกปิดลอกเลียนไปใช้เสียงของคนอื่น
ผู้สัมภาษณ์: ตอนคุณเริ่มเล่นดนตรีล่ะ คุณไม่ได้พยายามไปลอกเลียนซาวด์ใครมาใช่ไหม
ออร์เน็ต โคลแมน: ตอนที่ผมรู้ตัวว่าเริ่มเล่นดนตรี ผมต้องเรียนรู้ต้องเรียนรู้ที่จะอ่านโน้ต
เขียนโน้ต ผมเรียนอยู่อย่างนั้น 2 ปี สุดท้ายผมก็พูดกับตัวเองว่า
“ไอที่ทำนี่หมายความว่าผมอยากเป็นนักประพันธ์นี่หว่า” แต่เมื่อผมมาถึงเท็กซัส

ที่นั่นมีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่มีโรงเรียนสำหรับผม
ผมต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งด้านการอ่านโน้ต และเขียนเพลง
หลังจากผมทิ้งเท็กซัสมาแคลิฟอร์เนีย ผมลำบากมากเพราะหาคนเล่นเพลงที่ผมเขียนไม่ได้
สุดท้ายผมก็เล่นมันเองซะเลย และนั่นทำให้ผมกลายเป็นมือแซกซ์อย่างทุกวันนี้
ตอนแรกผมอยากเป็นนักประพันธ์ ผมมักจะบอกกับผู้คนว่า
“ผมคิดว่าผมเป็นนักประพันธ์คนหนึ่ง”
ผู้สัมภาษณ์: คุณนี่ผ่านเรื่องยากลำบากมาเยอะจริงๆ ถึงอย่างนั้นก็สุดยอดเลยที่วงควอเต็ต
(Quartet) วงแรกที่เล่นด้วยกัน ถึงทุกวันนี้มากกว่า 30 ปีแล้วก็ยังเล่นด้วยกันอยู่
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ใช่ ปาฏิหาริย์ชัดๆ จริงๆแล้วผมมีแผ่นเสียงอื่นอีกนะ ที่ทำในปี 1976
แต่ผมได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่กับค่ายเพลง
เพราะผมโฟกัสกับผลงานเพลงมากกว่าธุรกิจ
เหตุผลที่ผมยังเล่นดนตรีอยู่ได้ก็เพราะเดนาร์โดลูกชายผมคอยดูแลเรื่องธุรกิจนี่แหละ
ผมรู้สึกปลอดภัย คุณรู้ไหม ผมเป็นคนขี้สงสัยมาก ไม่ใช่ว่าผมไม่ไว้ใจคนนะ
แต่ผมไม่รู้ว่าคนๆนั้นกำลังคิดอะไร เพียงเพราะบางคนพูดว่า “ผมชอบที่คุณทำ” อะไรทำนองนี้
วันนี้พวกเขาชอบเรา พรุ่งนี้พวกเขาอาจจะเปลี่ยนใจไม่ชอบเราก็ได้
นั่นแหละประสบการณ์แย่ๆที่ผมได้จากค่ายเพลง
ผมไม่เคยที่จะมีสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร ผมมักจะได้เข้าค่ายเพลงนั้นๆ
ด้วยใครสักคนที่ชอบเพลงผม จากนั้นเขาคนนั้นก็จะถูกไล่ออก ส่วนผมก็ออกจากตามเขาไป
พวกค่ายเพลงไม่เคยทำอะไรเพื่อผมเลย
ส่วนมากความสัมพันธ์ของผมกับค่ายเพลงไปด้วยกันได้ไม่ค่อยดี
ถ้าจะมีที่ดีก็จะเป็นเฉพาะรายคน เมื่อพวกเขาไป ทุกอย่างก็เปลี่ยน
และผมก็ออกมาจากระบบนั้น
แต่เดนาร์โดลูกผมมีประโยชน์มากเพราะคอยแก้ปัญหาต่างๆนั้นให้ผม

ผู้สัมภาษณ์: อยากให้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเดนาร์โดลูกชายคุณสักหน่อย
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: เดนาร์โดอัดเพลงแรกของเขากับผมตั้งแต่เขาอายุ 9 ขวบ ชื่อเพลงว่า
“Empty Foxhole” และเขาเล่นได้ไพเราะมาก
เดนาร์โดไม่เคยคิดเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่าจะเป็นมือกลอง ผมจำได้ครั้งหนึ่งเมื่อเราถูกสัมภาษณ์
เขาพูดว่า “พ่อ คนพวกนี้เขียนถึงผมอย่างกับว่าผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
พวกเขาไม่รู้หรอว่าผมยังเป็นเด็ก”
ผมไม่เคยพยายามให้เค้าสร้างภาพลักษณ์แบบนักดนตรีคนอื่น
เพราะงั้นพวกเราถึงไปด้วยกันได้ดีมาก ถึงขนาดที่ผมออกเดินสายกับเขาและแพทด้วย (Pat
Metheny)
ผู้สัมภาษณ์: แล้วนอกจากนี้มีโปรเจ็ค หรือผลงานอะไรที่กำลังทำอยากฝากไหม
ออร์เน็ต โคลเมน: ผมเขียนหนังสือทฤษฎีดนตรี หลายๆคนมักจะถามผมเกี่ยวกับหนังสือ
“Harmolodics” สุดท้ายผลลัพธ์ของดนตรีก็คือ คุณแค่เล่นมัน
นั่นคือเหตุผลที่ผมไม่เคยต้องกังวลเวลาเล่นดนตรี แต่ตอนนี้ผู้คนเริ่มเขียนและพูดว่า
“เราต้องรู้ให้ได้ว่าคุณทำอะไร คุณเล่นอะไร” ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะเป็นคำตอบสำหรับพวกเขา
และเดนาร์โด ตั้งแต่เขามาเป็นผู้จัดการผม
ผมก็กินเวลาที่เขาจะได้อยู่กับกลองของเขาไปซะเยอะ
แต่ผมก็ได้อัดเพลงที่เขาแต่งกับดอนและผมเมื่อ 10 ปีก่อน (น่าจะเป็น Don Cherry
มือทรัมเป็ต)
ผู้สัมภาษณ์: คุณได้ไปนิวออลีนส์อีกครั้งเมื่อไหร่
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ช่วงปี 47 ปี 49 ผมอยู่กับเมลวิน แลสตี้ (Melvin Lastie)
เป็นช่วงเวลาที่ดีจริงๆ แม้ว่าจะมีช่วงที่น่าเศร้ามากๆ ที่แบตัน เราจ์ (Baton Rouge)
ชายกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายผมแล้วโยนแซกโซโฟนผมทิ้ง เพราะผมไว้หนวดเครา
และไว้ผมยาวแบบเดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)
ผมไม่อยากที่จะข้องเกี่ยวกับคนประเภทใจร้ายแบบนี้
ผมคิดว่าการที่ผมไว้หนวดเคราจะกันคนเหล่านี้ออกไป แต่ไม่ได้ผล พวกเขาคิดว่าผมเป็นเกย์
หรือตัวประหลาด หรืออะไรสักอย่าง เขาคงไม่ชอบการแต่งตัว รูปร่างท่าทางของผม
ผู้สัมภาษณ์: คุณไม่ได้เจอกับแบล็คเวลล์ที่นิวออลีนส์หรอกหรือ

ออร์เน็ต โคลแมน: ไม่ ผมพบเมลวิน แลสตี้ สุดยอดมือทรัมเป็ต
ส่วนแบล็คเวลล์ผมเจอเขาที่แคลิฟอร์เนีย
ผู้สัมภาษณ์: แล้วไปเจอกันได้ยังไง
ออร์เน็ต โคลแมน: เรารู้จักกันจากเพื่อนนักดนตรี ตั้งแต่ที่เราเจอกัน
เราก็มีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด
ผู้สัมภาษณ์: ปัญหาที่คุณพบส่วนมากมาจากพวกเหยียดเชื้อชาติใช่ไหม
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ผมว่าทุกคนก็เจอปัญหาแบบนี้ ไม่ว่าจะผิวสี ผิดขาว หรือใครก็ตาม
ผู้สัมภาษณ์: คุณมันจะมีมือเบสเก่งๆเป็นคนผิวขาวมาเล่นให้ คิดว่าเป็นความบังเอิญไหม
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ผมไม่เคยคิดเรื่องสีผิว หรือจริยธรรม ผมคิดถึงแต่ความเป็นมนุษย์
ผมจำได้เมื่อเดวิด อีเซนซัน (David Izenzon) มาที่บ้านของผม เล่นเบสให้ผม
และวันถัดมาเขาก็บอกกับผมว่า “ออร์เน็ตต์ ผมมีความคิดดีๆ ทำวงทรีโอ้ David
Izenzon/Ornette Coleman Trio กัน” ตอนนั้นผมเพิ่งรู้จักเขาได้วันเดียว
ผมเลยบอกไปว่า “ถ้าคุณรู้สึกแบบนั้น มาเลย ผมจะเอาคุณเข้าวง”
เขาทำวงอยู่กับผมเป็นเวลานานแลย ผมคิดถึงแค่เรื่องความเป็นมนุษย์ สุดท้ายทุกคนต้องตาย
หลุมศพไม่แบ่งเรื่องผิวสี ไม่ว่าจะดำ หรือขาว
ผู้สัมภาษณ์: คุณตื่นเต้นกับอะไรที่สุดในตอนนี้
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ผมเขียนเพลงมากมายที่บางคนเรียกว่า “เพลงคลาสสิค”
แต่ผมเรียกมันว่า “เพลงที่คนเหล่านั้นอ่าน” ตลอดสามปีที่ผ่านมา
ผมมีกลุ่มคนที่สนใจงานแต่งเพลงของผมมากๆ จนกระทั่งผมคิดว่าตัวเองเป็นนักประพันธ์
ผมรู้สึกดีมากนะ มีคนจำนวนมากโทรหาผม ผมยังได้ส่วนแบ่งจากงานแต่งเพลงสกอร์หนัง 2-3
งานอีกด้วย
จริงๆ ผมไม่ค่อยใช้ชีวิตแบบนักดนตรีนัก ผมคิดว่าดนตรีเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ผมทำ
แต่ผมยังมีหลายอย่างที่ผมอยากทำ
ผู้สัมภาษณ์: อย่างเช่นอะไรบ้าง?
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: ผมอยากที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิด
ผมคิดว่ามีบางอย่างในชีวิต... ไม่ๆ เอาใหม่ ผมคิดว่าความเป็นมนุษย์ ไม่มีวันตาย
ไม่ว่าอดัมกับเอวาจะเป็นใคร เอวาไม่ได้กำเนิดจากครรภ์ของมารดา
และแน่นอนว่าเธอก็ไม่ได้ให้กำเนิดอดัม บางอย่างทำให้พวกเขามีตัวตน
ผมคิดว่าภาพจำนั้นยังคงอยู่บนโลก

ทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์ต้องเจ็บป่วยก็มาจากการที่พวกเขากระทำต่อสิ่งแวดล้อม และธาตุ
หรือองค์ประกอบต่างๆที่อยู่ในโลกส่งผลต่อร่างกายและใจ เช่น รังสี มะเร็ง ต่างๆ
ผมคิดว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้มาจากพวกอาหารที่ใช้สารเคมี เมื่อพวกเขาใช้สารเคมีผิดที่ผิดทาง
มันจะย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เอง
ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิต และมีพยาบาลอยู่คนหนึ่งที่ป่วย
คุณรู้ไหมว่าเธอป่วยเพราะอะไร?
เธอป่วยเพราะเป็นกังวลผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถรับอาหารได้
กลายเป็นว่าสุดท้ายเธอก็กลายเป็นผู้ป่วยซะเอง ผมเชื่ออย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นมนุษย์
การที่เราทำดีต่อกันจะเป็นทางเดียวที่ทำให้โลกเพอร์เฟ็ค ถ้าอยากให้คนอื่นทำดีกับเรา
และคุณก็ทำดีต่อคนอื่น
ผู้สัมภาษณ์: เพลงของคุณช่างไพเราะสวยงาม การแต่งกายของคุณก็ดูดี
อธิบายเรื่องความสนใจด้านเสื้อผ้าคุณหน่อย
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: สำหรับผม ผมมองว่าในโลกตะวันตกนี้
วัฒนธรรมมีผลกับรูปลักษณ์ภายนอก
พ่อค้าหรือดีไซเนอร์ต้องคอยเข้าไปเอาใจใครสักคนเวลาเขาใช้เวลากับการลองชุดที่ใส่เพื่อไป
ทำงาน ชุดที่แค่ทำให้เขาคนนั้นรู้สึกว่าแต่งตัวได้ถูกกาลเทศะ ต่อให้คนๆนั้นจะทำงานได้ดี
แต่ใครจะชอบที่จะเห็นคนรูปลักษณ์ดูเหมือนคนจรจัด หรือขอทานอยู่หน้างาน
เห็นไหมว่ามันไม่สมเหตุสมผล
ไม่ใช่ว่าผมคิดว่าทุกอย่างต้องเหมือนกันหมด
แต่ผมคิดว่าการมีรูปลักษณ์ที่ใครสักคนสามารถชมได้เต็มปากโดยไม่ใช่พวกพ่อค้าที่ประจบ
เอาใจ จะทำให้คนๆนั้นรู้สึกดีมากกว่า โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนดี
ปกติแล้วผมจะแต่งกายโดยยึดถืออย่างแรกคือ ดูแล้วเป็นมิตร ไม่ดูอันตราย
และอย่างที่สองคือดูน่าสนใจ สองอย่างนี้ทำให้คนรอบข้างสบายใจ
หรือทำให้คนที่อ่อนไหวกล้าที่จะเข้าหาพูดคุยซักถาม
ผู้สัมภาษณ์: ผมตั้งใจจะถามก่อนหน้านี้แล้วว่า
ตอนคุณแต่งเพลงซิมโซนิกคุณได้แอปโพรชมันไหม
ออร์เน็ตต์ โคลแมน: เหมือนกับที่ผมเล่นนั่นแหละ คุณต้องรู้ก่อนว่าในโลกดนตรีตะวันตก
ไม่ว่าคุณจะผิวสีอะไร เพลงชื่ออะไร คุณก็เล่นโน้ตที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะโฮโรวิตซ์ (Vladimir
Horowitz) ที่นั่งหลังเปียโนก็กดโด วิลลี่ เนลสัน (Willie Nelson) จับกีตาร์เขาก็กดโด
หรือผม ผมกดโด เราก็ต่างเล่นโน้ตเดียวกัน
มันเหมือนใครบางคนติดป้ายฉลากกำกับเราให้ทำสิ่งที่แตกต่างกัน
ผมว่านี่เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับโลกที่ต้องใช้การแสดงออกทางศิลปะ

ทางที่ดีไม่ว่าคุณจะชื่ออะไร... คุณสามารถทำสิ่งที่คุณอยากทำได้...
มันไม่ดีเลยที่จะจับคนมาแยกประเภทกัน