เกรซ เคลลี นักแซ็กโซโฟนเชื้อสายเกาหลี

 

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 คนในวงการดนตรีแจ๊สสหรัฐ มักสืบเชื้อสายจากชาวแอฟริกัน ชาวยุโรปและผู้อพยพมาจากกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ศตวรรษต่อมา ช่วงทศวรรษ 1970 เริ่มมีนักดนตรีแจ๊สเชื้อสายชาวเอเชียแทรกเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ระยะหลังมีผู้ที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม เกาหลี เกรซ เคลลี นักอัลโตแซกโซโฟนอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการดนตรีแจ๊สยุคนี้ เนื่องจากเธอเป็นนักแซกโซโฟนแจ๊สหญิงอายุน้อยฝีมือดี ซึ่งมีน้อยมาก จึงทำให้ได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์และแฟนแจ๊สเป็นพิเศษหลายคน อาจสับสนกับชื่อของสาวแซกโซโฟนคนนี้ เพราะบังเอิญไปซ้ำกับ เกรซ เคลลี อดีตดาราสาวแสนสวยแห่งฮอลลีวูด ต่อมาเดินห่างจากโลกมายาไปอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งโมนาโค เส้นทางชีวิตเปลี่ยนเป็นเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโค อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเจ้าหญิง บางครั้งยังทำกิจกรรมด้านบันเทิง เช่น เคยเชิญ แฟรงค์ สินาตรา ดารานักแสดงและนักร้องแจ๊สชื่อก้องไปแสดงคอนเสิร์ตการกุศลที่ประเทศโมนาโค การมีชื่อนามสกุลเหมือนกันไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมตะวันตก จะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ดังเช่นในวงการดนตรีแจ๊ส บิลล์ เอแวนส์ คนหนึ่งเป็นยอดนักเปียโน ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นนักแซกโซโฟนระดับแนวหน้าเป็นอเมริกันทั้งคู่ อีกหนึ่งตัวอย่างคือ จอห์น วิลเลียมส์ คนแรกเป็นนักกีตาร์คลาสสิกชาวออสเตรเลีย คนที่สองเป็นผู้อำนวยเพลงและเป็นนักประพันธ์เพลงภาพยนตร์ชาวอเมริกันที่คว้ารางวัลออสการ์มาหลายรางวัล เกรซ ชุง เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1992 ที่เวลเลสลีย์ รัฐแมสซาชูเสตส์ พ่อแม่เป็นชาวเกาหลี ต่อมาย้ายไปอยู่ บรุคไลน์ ย่านอยู่อาศัยที่ดีแห่งหนึ่งในบอสตัน แมสซาชูเสตส์ เคยแวะไปที่นั่นวันหนึ่ง แรน เบลค ตอนเกรซอายุ 5 ขวบ แม่แต่งงานใหม่กับ โรเบิร์ต เคลลี จากนั้นสองสามปี โรเบิร์ตอนุญาตให้ลูกเลี้ยงใช้นามสกุลของเขา เธอจึงใช้ชื่อว่า เกรซ เคลลี นับแต่นั้นมา เกรซเติบโตในครอบครัวที่ชื่นชมศิลปะและดนตรี โดยเฉพาะเพลงดังจากละครบรอดเวย์ คือเพลงป๊อปชั้นดีที่นิยมร้องและบรรเลงกันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1920 เพลงบรอดเวย์ส่วนใหญ่มักประพันธ์โดยนักแต่งเพลง และนักแต่งเนื้อร้องฝีมือดี มีความรู้ ความสามารถทางดนตรีอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้พ่อแม่ยังสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการเปิดฟังเพลงแจ๊สด้วย เกรซเริ่มหลงใหลในเสียงเทเนอร์แซกโซโฟนของสแตน เกตซ์ เกรซเริ่มเรียนเปียโนตอนอายุ 6 ปี แรกๆเรียนตามระบบแบบคลาสสิก พอเล่นๆ ไปชักเอนเอียงไปสนใจแจ๊ส เพราะทำให้เธอสร้างแนวทำนองเองได้ เกรซแต่งเพลงแรก On My Way Home ตอนอายุเพียง 7 ปี ขณะเรียนอยู่เกรด 4 พอเข้าเรียนระดับประถมศึกษา เธอหันไปเป่าคลาริเน็ต แล้วเปลี่ยนไปเป็นแซกโซโฟน ตอนอายุ 10 ขวบ เรียนพิเศษกับครูจนเป่าได้คล่อง เธอไปบรรเลงในร้านขายหนังสือ ”บอร์เดอร์ส”กับนักเปียโนผู้ใหญ่ในเพลง Besame Mucho น้ำหนักแซกโซโฟนหนักเกินไป เกรซต้องวางตัวแซกซ์ไว้บนหมอน เธอเป่าทำนองธรรมดา ยังไม่”อิมโพรไวส์” หรือบรรเลงเชิงปฏิภาณ แต่เริ่มส่อแววจะเป็นนักแซกโซโฟนแจ๊ส เกรซออกอัลบั้มแรก Dreaming ตอนอายุ 12 แผ่นซีดีชุดแรกนี้ แอนน์ แฮมพ์ตัน แคลลาเวย์ นักร้องแจ๊สคาบาเรต์ชื่อดังเขียนคำนิยมให้ แอนน์ประทับใจกับเสียงอัลโตแซกโซโฟนที่เปี่ยมด้วยอารมณ์อันอ่อนไหว ได้ใจคนฟัง แผ่นชุด Dreaming ผลิตโดย PAZZ ซึ่งย่อมาจาก pop and jazz หรือ peace and jazz ที่เกรซร่วมก่อตั้งบริษัทนี้กับโรเบิร์ตหรือบ็อบพ่อเลี้ยง สองปีหลังออกแผ่นชุด Dreaming เกรซได้รับเชิญเป็นศิลปินรับเชิญ ร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับ คีธ ล็อคฮาร์ต โดยแสดงกับ Boston Pops ที่ซิมโฟนีฮอล 2 คืน เกรซเล่นเพลงที่เธอได้รับรางวัลจากการประพันธ์เพลง Every Road I Walked เธอเรียบเรียงสำหรับบรรเลงโดยวงบอสตันพ็อพส์ออร์เคสตราด้วยตนเอง หลังจบจากโรงเรียนมัธยมในย่านบรุคไลน์ เกรซวัย 16 ได้รับทุนเรียนจนจบปริญญาตรีที่เบิร์กลีคอลเลจออฟมิวสิค สาขา Professional Music และได้เรียนกับนักแซ็กโซโฟนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น จอร์จ การ์โซน, ลี โคนิตซ์, เกรก ออสบี, เจอร์รี เบอร์กอนซี, แอลเลน เชส ช่วงที่ยังเรียนอยู่ปีสองปีสาม เกรซเล่นเปิดการแสดงในเทศกาลดนตรีแจ๊สนิวพอร์ต เคียงข้าง เจมี คัลลัม นักร้องนักเปียโนชาวอังกฤษ คนในครอบครัวปลูกฝังเกรซให้อยู่กับเสียงดนตรี เธอไม่เพียงแต่เล่นดนตรีเก่งเท่านั้น การร้องเพลงจัดว่าเข้าขั้น ชอบเพลงป๊อปของสตีวี วันเดอร์, เดอะบีเทิลส์ ชอบแนวทำนองและเสียงประสานที่สดใส ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เธอฟังเพลงป๊อปดีๆ พร้อมกับร้องตามไปด้วย แล้วพยายามคิดจะหลอมรวมกับแจ๊สได้อย่างไร เธอฟังแจ๊สแบบ “บีบ็อพ”และแบบ “ดั้งเดิม”ฟังดนตรีหลากหลายชนิด เพื่อผลักดันตัวเองให้ก้าวไปยังข้างหน้า ปกติเกรซฟังเพลงร้องมากกว่าเพลงบรรเลง เพราะเนื้อร้องช่วยให้ได้ความรู้สึกและอารมณ์ของคำ ได้อรรถรส ฟังนักร้องแจ๊สอย่าง คาร์เมน แม็คเร, บิลลี ฮอลิเดย์, ซาราห์ วอห์น, เอลลา ฟิตซ์เจอรัล ทุกคนสุดยอด ส่วนนักอัลโตแซ็กโซโฟน ชอบ ชาร์ลี พาร์กเกอร์, ลี โคนิตซ์, ฟิล วูดส์, จอห์นนี ฮอดเจส, ซันนี สติตต์, พอล เดสมอน ปัจจุบันชอบนักแซกโซโฟนอย่าง มิเกล เซนอน, เคนนี แกร์เร็ตต์...แน่นอน! สแตน เกตซ์ เป็นนักแซกโซโฟนที่เกรซโปรดเสมอ เหตุผลที่เธอชอบสแตนเพราะทำให้เธออยากเล่นแซก เธอฟังผลงานของสแตนเสมอ ทุกครั้งที่ฟังแผ่นของสแตนเป็นการเตือนให้เห็นความสำคัญในสุ้มเสียงของแซกโซโฟน ความงดงามของแนวทำนองที่สแตนถ่ายทอดออกในดนตรีอันวิจิตร เธอยังคอยติดตามตรวจตราความน่าทึ่งของศิลปินใหม่ๆ อย่างเช่น เอมิลี คิง และยังฟังเพลงประเภทอาร์แอนด์บี การฟังเป็นสิ่งเสริมทักษะ ช่วยให้เป็นนักดนตรีที่ดีได้อย่างมาก เกรซอยากเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถรอบตัว เธอเบื่อที่จะเล่นเพลงประเภทใดประเภทหนึ่งซ้ำซาก บางครั้งต้องละจากการแสดงคอนเสิร์ตแจ๊สกับวงควินเทตของเธอเอง ปลีกตัวไปเป็นนักดนตรีรับเชิญของนักร้องบลูส์ เจมส์ มอนท์กัมเมอรีหรือไม่ก็ไป “แจม” กับ เจมส์ คอตทัน และ ฮุย ลุยส์ เล่นเพลงบลูส์ กับร็อค ที่เสียงดังสะใจ เติบโตด้วยการฟังดนตรีอันหลากหลาย พยายามเพิ่มพูนความรู้ไปเรื่อยๆ เกรซ เคลลี เป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงบทเพลง นักประพันธ์คำร้อง เขียนเพลงสำหรับวงดุริยางค์เรียบเรียงสำหรับวงดุริยางค์ เรียบเรียงสำหรับบรรเลงด้วยกลุ่มเครื่องเป่า อยากท้าทายทำอะไรใหม่ๆ เธอไม่ชอบที่มีคนมาระบุว่าเป็นดนตรีแบบนั้นแบบนี้ เธอคิดว่าหากเป็นดนตรีที่ดี จะเป็นประเภทใดย่อมดี ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ ดุ๊ก เอลลิงตัน ที่เคยกล่าวไว้ว่า ดนตรีมีเพียงสองชนิดเท่านั้น คือ ดนตรีดี และดนตรีเลว ผมเองเห็นด้วยกับความคิดนี้ บทเพลง แม้จะวางรูปแบบดนตรีคลาสสิกที่อลังการ เทคนิคสลับซับซ้อน หากเนื้อหาสาระไม่ได้เรื่องจะถือเป็นดนตรีที่ดีคงไม่ใช่ เกรซเล่นอัดแผ่นในนามตนเองรวม 7 ชุด Man With The Hat เป็นชุดที่สำคัญ ได้เล่นคู่กับ ฟิล วูดส์ นักอัลโตแซกโซโฟนยิ่งใหญ่ในแวดวงแจ๊ส โดยมีนักเปียโนรุ่นใหญ่จากจาเมกา มอนที อเล็กซานเดอร์ เสริมความแน่นให้และมีนักดนตรีฝีมือดีอย่าง บิลล์ กู๊ดวิน, จอร์แดน เพิร์ลสัน และ เอแวน เกรเกอร์ ฟิล วูดส์ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน คนที่ติดตามวงการดนตรีแจ๊สคงจะรู้ ผมเคยเห็นฝีมือของฟิล วูดส์ เมื่อคราวเป็นนักดนตรีรับเชิญของ บัดดี้ ริช ที่ “คาร์เนกี้ฮอล” ในนครนิวยอร์ก หลายปีก่อนได้ชมการแสดงของฟิล วูดส์ อีกครั้งในเทศกาลดนตรีแจ๊สที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ ในสภาพต้องนั่งเล่นเพราะสุขภาพไม่ค่อยดี ตอนนี้อายุกว่า 80 ฟิลมีชื่อเสียงอยู่ในวงการแจ๊สกว่าครึ่งศตวรรษ ฟิลมักสวมหมวกแก็ปหนังบนเวทีเสมอ จึงเป็นที่มาของชื่อชุด Man With The Hat ในแผ่นชุดนี้ มีเพลงล้วนน่าฟังดังนี้ Man With The Hat; Love Song; People Time; Ballad For Very Sad And Very Tired; Lotus Eater; Gone; Everything We Say Good; The Way You Look Tonight ฟิล วูดส์ กล่าวถึง เกรซ เคลลี ว่า “ผมเจอเกรซ เคลลี ครั้งแรกในโครงการแจ๊สฤดูร้อน ที่มหาวิยาลัยแสตนฟอร์ด ผมทึ่งกับความฉลาดเก่งเกินวัยของเธอ จากนั้นไม่นาน เธอเล่นกับผมในวง ‘แจ๊ส แอมบัสซาเดอร์’ ที่เทศการดนตรีแจ๊สฟิตต์สฟีล เราแจมด้วยกันเพลง Remember April เสียงแซ็กโซโฟนดีเยี่ยม ผมต้องเปิดหมวกให้ เธอเป็นนักอัลโตแซกโซโฟนแจ๊สแห่งอนาคต