เจมส์ มูดี มือแซ็กโซโฟนนิสัยดี

การเสียชีวิตของนักแซ็กโซโฟนระดับตำนาน เจมส์ มูดี (James Moody) เมื่อปีที่แล้ว เป็นข่าวเล็กๆ บนหน้าสื่อทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา

 เจมส์ อายุ 85 ปี อยู่ในวงการเพลงมาเกือบ 65 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อ 9 ธันวาคม 2010 ณ บ้านในเมืองซานดิเอโก เขาเป็นที่รักของเพื่อนนักดนตรีทั้งรุ่นราวคราวเดียวกัน จนถึงรุ่นหลังๆ ซึ่งจากรายงานของ จอห์น แมคโดนัฟ นิตยสารดาวน์บีท ที่สอบถามความเห็นของผู้คนที่รู้จักเจมส์ มูดี พวกเขาต่างมองการจากไปของศิลปินคนนี้ เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลองชีวิตมากกว่าจะมานั่งเศร้าใจ

                         

 "ไม่มีอะไรที่เราต้องเศร้าโศกาในเรื่องนี้" ซันนี โรลลินส์ นักดนตรีอาวุโส ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเจมส์ บอกกล่าว "มันไม่ใช่ว่า ผมไม่เสียใจที่เราจะไม่มีโอกาสได้ฟังเขาบรรเลงเพลง หรือเล่นดนตรีร่วมกับเขาอีกแล้ว  นั่นก็ถูกต้องอยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน มันควรเป็นช่วงเวลาของความเบิกบานเช่นกัน เพราะเขายังอยู่ที่นี่ และฝากผลงานล้ำค่าเอาไว้ รวมถึงความทรงจำของเราที่มีต่อบุคคลที่มหัศจรรย์คนนี้ การรู้จักเขา และคิดอ่านเกี่ยวกับตัวเขาล้วนแต่นำความสุขใจมาให้  เราไม่อาจรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ เราต้องรู้สึกดีกับชายคนนี้ที่ชื่อ มูดี"

 เจมส์ มูดี เกิดในเมืองซาวันนาห์ จอร์เจีย เมื่อ 26 มีนาคม ค.ศ.1925 เติบโตที่เมืองนวร์ก นิวเจอร์ซีย์ เขามีโอกาสได้ร่วมงานในวงบิ๊กแบนด์ของ ดิซซี กิลเลสปี ซึ่งเราสามารถหาซาวด์ยุคแรกๆ ของเขาได้จากอัลบั้มของดิซซี ชุด Showtime at the Spotlight ซึ่งถือได้ว่า ดิซซี เป็นเสมือนครูคนสำคัญของ มูดี จากนั้น ระหว่างการเล่นดนตรีในภาคสนาม มูดียังมีเพื่อนสนิทอีกหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือมือแซ็ก จิมมี ฮีธ

 ในปี ค.ศ.2005 ฮีธ อธิบายถึงบุคลิกภาพของ เจมส์ มูดี ในเพลง Moody's Groove ที่เขาแต่งขึ้นตอนหนึ่งว่า "Moody has more kisses than Hershey's...."

 "เขาเป็นต้นตำรับคนหนึ่งเลยทีเดียว" ฮีธ บอก "ไม่มีใครในโลกนี้เหมือนมูดี หนึ่งในผู้คนที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ผมเคยรู้จัก เราต่างเรียกกันและกันว่า เซ็คชั่น  เพราะเราเล่นอยู่ใน แซ็กโซโฟน เซ็คชั่น เหมือนกัน ใครๆ ก็จดจำตัวตนของเขาได้จากการชอบจุมพิต เขาเป็นอย่างนั้นเสมอ บางทีผมคิดว่าเขาน่าจะได้รับธรรมเนียมนี้มาจากยุโรป"

 ในช่วงปี 1946-48 เจมส์ มูดี มีส่วนช่วยสนับสนุนนักดนตรีรุ่นใหม่ที่ก้าวมาสู่วงการแจ๊ส หนึ่งในจำนวนนั้นคือ มืออัลโตนาม ฟิล วูดส์

 "ผมรักมูดี" วูดส์ อธิบาย "ความเบิกบานและพลังของเขาเป็นเรื่องเด่นชัด เขายังเป็นนักอิมโพรไวส์ที่ยิ่งใหญ่ที่เท่าเคยมีมา ไม่มีใครเล่นเชนจ์ (การเปลี่ยนคอร์ด) ได้อย่าง มูดี ไม่มีใครมีจิตวิญญาณลึกซึ้งกว่าเขา ทั้งเสียงฮอร์น ทั้งตัวตนของ มูดี เต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่น เขาเป็นผู้ชายคนเดียวที่ผมยอมรับจูบของเขาได้ เมื่อเขาเดินเข้ามาในห้อง เขาจะจูบทุกๆ คน และมักทำอย่างนั้นตอนเขาตื่นเต้น นั่นคือ เจมส์ มูดี คนเดียวเท่านั้น ผมจะคิดถึงดนตรีของเขา และจูบของเขา"

 เจมส์ มูดี เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากการเพิ่มเติมเสียงร้องในการโซโซเพลง I'm in the Mood for Love เมื่อปี ค.ศ.1949

 "นั่นกลายมาเป็นเพลงดังในชุมชนคนดำ " โรลลินส์ ย้อนความ "เมื่อเราฟังเพลงนี้ เพราะมันไม่ใช่ชาร์ลี พาร์คเกอร์ หรือ ดิซซี ดังนั้น มันอาจจะไม่มีอิทธิพลต่อเรามากนัก โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่สนใจดนตรีบีบ็อพในตอนนั้น แต่ผมดีใจที่เพลงนี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และก้าวขึ้นมามีโอกาสทำงานอื่นๆ อีก"

 มูดี กับ โรลลินส์ ไม่เคยมีโอกาสเล่นดนตรีด้วยกัน แต่วงดนตรีของเขาสลับกันเล่นไปมา ที่ เดอะ แจ๊ส แกลลอรี ในนิวยอร์ก ยุคซิกซ์ตีส์ ซึ่งที่นั่น ทำให้ โรลลินส์ มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ดนตรี และทำให้เขาเติบโตยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา

 ช่วงทศวรรษ 1960s มูดี ทำงานร่วมกับ ดิซซี พร้อมๆ กับมีวงดนตรีของตัวเอง ช่วงนี้เขามี บ๊อบ แครนชอว์ มือเบสดาวรุ่งในเวลานั้น มาเป็นสมาชิกวง

 "เขาคือคนเก่งที่สุด" แครนชอว์ พูดถึง เจมส์ มูดี ให้ฟัง "ผมเพลิดเพลินกับการทำงานกับ มูดี เพราะเขาจริงจังกับดนตรี แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความสนุกสนานไปกับมันด้วย เมื่อผมมาถึงนิวยอร์กในช่วงปี 1960 ผมได้งานแรกๆ จากการเล่นในวงของเขา ตอนนั้นเขานับถือความเชื่อบาไฮ (Baha'i) นั่นน่าจะทำให้เขาน่ารักยิ่งขึ้น และมีส่วนทำให้บรรยากาศรายรอบตัวดูอัศจรรย์ไปด้วย"

 แม้กระทั่งศิลปินรุ่นหลังๆ ก็ประทับใจในตัวตนของ เจมส์ มูดี เช่น นักร้องสาวชาวอิตาเลียนที่ปัจจุบันผาดโผนอยู่ในยุทธจักรดนตรีที่นิวยอร์ก อย่าง โรแบร์ตา กัมบารินี สารภาพว่าเคยดู เจมส์ มูดี กับพ่อแม่ที่อิตาลีเมื่อตอน 9 ขวบ ก่อนที่เธอจะพบกับเขาอีกครั้งที่เมืองเคปทาวน์ในปี ค.ศ.2002
 "เมื่อฉันลงจากเวที และไต่มาจากบันได แขนของเขากอดรัดอย่างหนักหน่วง เขาชอบที่จะกอดทุกๆ คน"  เธอบอก

 ในช่วงทศวรรษสุดท้าย เจมส์ มูดี กับ โรแบร์ตา มีโอกาสได้ร่วมงานกันบ่อยครั้ง

 "เขาเป็นคนที่อะเมซิ่งมากๆ เท่าที่จะมีใครสักคนเดินอยู่บนโลกใบนี้ เขาเต็มไปด้วยพลังชีวิตที่ไม่สิ้นสุด เสมือนมีรังสีออราปรากฏ มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่เท่าที่มนุษย์คนหนึ่ง และนักดนตรีคนหนึ่งจะเป็นได้  แม้ในช่วงท้ายของชีวิต ก็ยังเต็มไปด้วยความสนใจใคร่รู้ ครั้งหนึ่ง เขามุ่งไปหานักแซ็กโซโฟนหนุ่มคนหนึ่ง พร้อมถามไถ่ถึงวิธีการเล่นของหนุ่มคนนั้น เด็กหนุ่มบอกว่า มูดี ผมได้วิธีการเล่นนี้มาจากคุณนั่นแหละ !"

 "คืนหนึ่ง เราเล่นที่ลินคอล์นเซ็นเตอร์ ฉันยืนอยู่ข้างๆ เขา ฟังไปพร้อมกับคิดไปว่า มันช่างเหมือนกับวันคืนเก่าๆ เหล่านั้น ที่ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และบรรดาไจแอนท์ทั้งหลายกำลังอยู่บนเวที เขาพาพวกศิลปินเหล่านั้นมาด้วยยามเขาบรรเลงเพลง" นักร้องสาวกล่าว

 

 ผลงานในระยะสุดท้ายของ เจมส์ มูดี คืออัลบั้ม Moody 4A และ Moody 4B ซึ่งอัดกับนักเปียโน เคนนี บารอน , มือเบส ทอดด์ คูลแมน และ  มือกลอง ลูว์อิส แนช ที่หลายๆ คนเรียกขานว่าเป็น The Killer Quartet เพราะล้วนเป็นการรวมตัวของศิลปินระดับพระกาฬ

 โดยอัลบั้มชุดหลังเพิ่งออกวางขายเมื่อปีที่แล้ว ก่อนหน้าเจ้าตัวศิลปินจะเสียชีวิตไม่นาน และได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขาอัลบั้มแจ๊สบรรเลงยอดเยี่ยม

 น่าลุ้นว่า เจมส์ มูดี จะคว้ารางวัลนี้ได้หรือไม่.