JAZZ GIANT แซกหวาน ทรัมเป็ตเร้าใจ

JAZZ GIANT
แซกหวาน ทรัมเป็ตเร้าใจ
การเสียชีวิตของ เบนนี คาร์เตอร์ (1907-2003) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2003 (1907-2003) เป็นหนึ่งในบรรดาข่าวเศร้าของแวดวงดนตรี
โดย ในปีนี้มีศิลปปินระดับตำนานทยอยเสียชีวิตหลายคนด้วยกัน ตั้งแต่ คาร์เตอร์,เฮอร์บี มานน์,กอมไป เซกุนโด กระทั่งเซเลีย ครูซ ผมตัดสินใจหยิบอัลบั้มชุด Jazz Giant มาเขียนถึงเพื่อรำลึกถึง การสร้างสรรค์ของนักดนตรีแจ๊สผู้นี้ ซึ่งเป็นมากกว่านักอัลโต้ แซกโซโฟน หรือนักทรัมเป็ตฝีมือดี หากเขายังเป็นนักประพันธ์ดนตรี นักเรียบเรียงเสียงประสาน และนายวงบิ๊กแบนด์ที่มีบทบาทยาวนานที่สุดคนหนึ่งในวงการแจ๊ส
เบนนี คารเตอร์ เคยมาเยือนเมืองไทย 2-3 ครั้ง เป็นอย่างน้อยทั้งที่อยู่ในช่วงปัจฉิมวัย แต่ลมหายใจทางดนตรีของเขาไม่หยุดนิ่ง จำได้ว่าผมเคยชมการบรรเลง อัลโต้แซกของคาร์เตอร์ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งในฐานะดาวเด่นของรายการเทศกาลดนตรีแจ๊สที่สวนอัมพรเมื่อปี พ.ศ. 2539
ระหว่างบรรเลงทั้งสองครั้ง ผมคิดว่าทุกคนที่กำลังชมลีลาการบรรเลงอย่างเต็มที่ของนักดนตรีอาวุโสคงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าคุณปู่วัยเกือบ 90 ปี (ในขณะนั้น) อาจจะเป็นลมล้มลงบนเวทีเสียเมื่อใดก็ได้


คาร์เตอร์ อัลบั้มชุด Jazz Giant นี้ เมื่อเขาอยุ่ในช่วงอายุ 50-51 ปี ซึ่งได้จัดเป็นช่วงเวลาที่วุฒิภาวะทางดนตรีสุกงอมเต็มที่ โดยมีผองเพื่อนในวงการดนตรีมาร่วมงานหลายคนด้วยกันเพลงส่วนใหญ่ที่บรรเลงเป็นเพลงเก่าที่ไม่ค่อยมีการบรรเลงมากนัก และยังมีบทประพันธ์ ของดาร์เตอร์ รวมอยู่ด้วย 2 เพลง นั่นคือ A Walkin’ Thing และ How Can You See
ก่อนหน้านั้น คาร์เตอร์ผ่านการทำงานดนตรีมาอย่างโชกโชน มีผลงานระดับต้นแบบที่บันทึกเสียงก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก แต่ค่อนข้างหาฟังยาก อาทิ I’d Love It (ปี ค.ศ. 1929) ซึ่งเป็นตัวอย่างของการโซโลอัลโต้แซกโซโฟนชั้นดี ก่อนหน้าการถือกำเนิดของชาร์ลี พาร์คเกอร์หรือใน Crazy Rhythm (ปี ค.ศ.1937) ทีมีการพัฒนาเทคนิคเลกาโต(legato)ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ฝีมือการเป่าทรัมเป็ตของคาร์เตอร์ แม้จะไม่โดดเด่นเทียบเท่ากับอัลโต้แซกโซโฟน แต่ด้วยการนำเสนออันจัดจ้านเร้าใจ ภายใต้บุคลิกภาพอันแจ่มใสของเขาก็จัดว่าเป็นลีลาที่คอเพลงยากจะปฏิเสธโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลง More Than You Know (ปี ค.ศ. 1939)
จัวอย่างของการบรรเลงอัลโต้แซกโซโฟน และ ทรัมเป็ตดังกล่าวปรากฏขึ้นในอัลบั้มชุดนี้ ตั้งแต่เพลงแรก Old Fashioned Love ในลีลาอัลโต้แซกโซโฟน อันแสนหวาน เรื่อยไปจนถึง I’m Coming Virginia ที่ฝากไลน์ทรัมเป็ตกันตั้งแต่ช่งงต้น เป็นแบบฉบับของการบรรเลงทรัมเป็ตในบริบทของบัลลาดแจ๊สชั้นดี
บทเพลงทั้งสองของคาร์เตอร์บ่งบอกถึงตัวตนของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี A Walkin’ Thing เป็นลีลาการเคลื่อนไหวที่ผ่อนคลายในแทร็คนี้ เบน เว็บเสตอร์ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงเทนเนอร์ แซกโซโฟน อันทุ้มมนและและมีปลายเสียงอันกังวานไกลได้อย่างประทับใจ ขณะที่ How Can You Lose เป็นบลูส์ที่มีดีกรีความเข้มกำลังเหมาะโดยมีเสียงทรอมโบนต่ำๆของแฟรงค์ โรโซลิโนประสานกับไลน์ทรัมเป็ตของคาร์เตอร์ได้อย่างกลมกลืน
อัลบั้มนี้ไม่ได้มีแจ๊ส ไจแอนท์เพียงคนเดียว หากยังมีบาร์นี เคสเซลเล่นกีตาร์ได้อย่างเฉียบคมใน Blue Lue เช่นเดียวกับลีลาคอมพิ่งเปียโนของอังเดร พรีแวง นักเปียโนแจ๊สที่ขยับไปสู่วงการดนตรีคลาสสิคในเวลาต่อมา
คาร์เตอร์ถ่ายทอดอัลโต้ แซกโซโฟน ได้อย่างพลิ้วไหวใน Ain’t She Sweet โดยมีการรับส่งข้อความระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นอย่างไหลลื่น เป็นปฏิสัมพันธ์ชั้นดีของแซกโซโฟนกับกลอง,กีต้าร์และเปียโน
Blues My Naughty Sweetie Gives ti me เป็นแจ๊สในอารมณ์บลูซีย์หวานเศร้าตามชื่อเพลง เซลลี มานน์ควบกลองได้อย่างมั่นคง โดยมีจิมมี โรว์ลส์มาแทนที่พรีแวง ในตำแหน่งเปียโนด้วยวอยซิงที่ค่อนไปทางโรแมนซ์ คาร์เตอร์ดำเนินทำนองได้ฉ่ำหวานตามสไตล์ถนัด นับเป็นหนึ่งในผลงานระดับขึ้นหิ้งของเบนนี คาร์เตอร์ที่ฝากไว้แก่โลก

CR: 100 JAZZ ALBUMS REVIEW อนันต์ ลือประดิษฐ์