แซ็กโซโฟนจากพลาสติก

แซ็กโซโฟนจากพลาสติก

 

ดนตรี+เทคโนโลยี+ดีไซน์ จุดกำเนิดของสินค้าสักชิ้นหนึ่ง อาจเพราะ "ตัวต้นคิด" กำลังหลงใหล และหวังจะให้สิ่งที่เขารักเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนอื่นๆบ้าง

 เช่นเดียวกับ ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ ผู้ผลิตแซ็กโซโฟน ไวเบรโต เอวัน ผู้เปลี่ยนภาพแซ็กโซโฟนทองเหลือง มาใช้วัสดุจากโพลิเมอร์รายแรกของประเทศและเป็นครั้งแรกของโลก

 "ผมเป่าแซ็กโซโฟน และรักที่จะเล่นเจ้าเครื่องดนตรีชนิดนี้ ตอนนั้นผมได้แรงบันดาลใจภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงแซ็กโซโฟน พอลองเล่นแล้วมันมีความสุข ผมก็อยากให้คนอื่นๆ สุขอย่างนี้บ้าง" คนต้นคิดบอกจุดกำเนิด

 แต่เมื่อมองไปรอบตัวแล้ว จะมีสักกี่คนที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ เขาเริ่มชีวิตนักวิทยาศาสตร์ แล้วค้นหาสาเหตุ จนพบว่า แซกโซโฟนที่ทำจากทองเหลืองที่ใช้กันแพร่หลายมีราคาสูงมากถึง 30,000-300,000 บาท

 และถ้าจะเจาะลึกลงไป กว่าจะเป็นแซกโซโฟนที่เล่นกันได้นั้น ต้องใช้แรงงานคนในการขึ้นรูปให้เป็นแท่ง ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของคนทำที่สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน

 ปิยพัชร์ จึงปิ๊งไอเดียแก้ปัญหา เขาว่าการผลิตจะต้องไม่ยุ่งกับกระบวนการใช้คน แล้วหันมาเปลี่ยนวัสดุ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมโพลิเมอร์

 "ในเมื่อเราไม่ได้มีอะไรเหนือคู่แข่งเลย ความรู้ในการผลิตแซ็กโซโฟนนั้น ยุโรปทำมาเป็นร้อยปีแล้ว เราจะเอาอะไรไปเก่งกว่าเขา สิ่งที่เราทำก็เลยต้องเอานวัตกรรมมานำหน้า และผลของนวัตกรรม ต้องทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตอบโจทย์เรื่องราคาได้  ต้องทำให้ราคาถูกลง ซึ่งนวัตกรรมที่ดีนั้น ทำออกมาแล้วคนต้องใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้"



 นักออกแบบแซ็กโซโฟนโพลิเมอร์เปิดใจเล่าให้ฟังต่อว่า วิธีการออกแบบต้องเริ่มจากกระบวนการ "ตั้งโจทย์" ให้เป็น

 เขาคิดว่าต้องเป็นแซ็กโซโฟนที่ทุกคนเล่นได้ มีวิธีการเล่นเหมือนแซ็กโซโฟนทองเหลือง และมีเสียงเหมือนแซ็กโซโฟนจริงๆ

 หลังจากลองผิดลองถูกอยู่ 6-7 ปี เพราะไม่มีคนไทยผลิตเครื่องดนตรีชนิดนี้มาก่อนและไม่มีศูนย์รวมในการถาม แต่ไม่นานนักก็หาทางออกได้จากข้อมูลการฉีดพลาสติกจากสำนักงานนวัตกรรม ซึ่งมองเห็นความเป็นไปได้ของเจ้าสินค้าตัวนี้

 จากนั้นปิยพัชร์ก็เดินหน้าทำต้นแบบ เพื่อให้รู้สัดส่วน ความเข้มข้นในการออกแบบ หาคนออกแบบโพลิเมอร์ไว้ข้างกาย เพราะต้องระวังรูปทรงที่จะเปลี่ยนไปตลอดเวลา

 เขาว่าทุกสเต็ปมีปัญหาได้เรื่อย เพราะพลาสติกมีค่าการหดตัว  สุดท้ายจึงมาลงตัวที่พลาสติกประเภทโพลีคาบอร์เนต และเอบีเอสในการขึ้นรูป ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกใช้วัสดุ ตัวพลาสติกก็มีการหล่อลื่นในตัวเอง และพลาสติกที่มีเนื้อแข็งเป็นพิเศษ จึงเหมาะแก่การผลิตแซ็กโซโฟน จากนั้นก็ใช้วิธีการฉีดเข้าแม่พิมพ์ตามที่ได้ออกแบบไว้

 แต่ระหว่างการทดลองทำแต่ละครั้งคุณภาพเสียงที่ได้ต่างกัน  นวัตกรน้องใหม่เยต้องวานคนดนตรีมืออาชีพมาแก้ และอาศัยเพื่อนในก๊วน Sax Society อย่างเศกพล อุ่นสำราญ หรือที่รู้จักกันดี "โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน มาช่วยแลกเปลี่ยนไอเดียเรื่องคุณภาพเสียง ถึงแม้จะมีคุณภาพเสียงดีไม่เท่าทองเหลือง แต่มีความเที่ยงตรงของตัวโน้ตมาทดแทน



เส้นกราฟด้านคุณภาพพัฒนาขึ้นตลอด เรียกว่ามาถูกทาง และดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งโก้พูดขึ้นว่า แซ็กฯนี้ใครก็เป่าได้ เล่นได้  เจ้าโปรดักต์ที่ชื่อ Vibrato A1 ชนิดอัลโตแซ็กโซโฟน (AltoSaxophone) ที่มีเสียงระดับกลาง มีน้ำหนักเบากว่าเดิมเพียง 850 กรัม และราคาถูกลงแค่ 6,000 บาทก็ครอบครองได้  จึงอุบัติขึ้นครั้งแรกในโลก

 "มันพิเศษกว่าทองเหลือง เพราะสามารถเปลี่ยนอะไหล่ได้ด้วยตนเอง นวมทำจากซิลิโคน ซึ่งต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่านวมปกติที่ทำจากหนัง  ส่วน Rods ทำขึ้นจากพลาสติกที่มีเนื้อแข็งเป็นพิเศษ และโพลิเมอร์ Food grade ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถทำสีต่างได้ตามใจชอบ และคุณสมบัติทนต่อสภาพแวดล้อม ป้องกันน้ำ ความชื้น และไอเค็มของน้ำทะเลได้ และยังกันกระแทกได้ดีกว่า เพราะถ้าเป็นทองเหลืองตกจากที่สูง 2-3 นิ้วก็อาจบุบได้"

 เจ้าของผลงานสุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์สาขาการออกแบบ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ชิ้นงานตามที่ต้องการแล้ว ต้องย้อนกลับมาคิดว่า จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแซ็กโซโฟนที่ดี ต้องเล่นได้ทุกคน เขาจึงพุ่งเป้าให้เด็กหาซื้อได้ง่าย เพื่อส่งเสริมให้เด็กเล็กสามารถฝึกหัดได้โดยไม่ต้องรอให้โตพอจะแบกรับน้ำหนักของแซ็กโซโฟนทองเหลือง

 และถึงแม้จะมีคำวิจารณ์ว่า สินค้าเชิงความคิดนั้นขายได้ยาก แต่ปิยพัชร์คัดค้านหัวชนฝา เพราะเขามองว่ามันไปต่อได้ และมีเสียงตอบรับดีพอ 

 หลังจากจดสิทธิบัตร แล้วนำผลงานประกาศต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ ส่งผลให้คนต่างชาติรู้จักมากขึ้น เขาจึงคิดเจาะตลาดต่างประเทศก่อน เพราะเริ่มมีคนติดต่อเข้ามา และเรียนรู้มุมมองของชาติตะวันตกที่ชอบความหลากหลาย ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเดือนละ 200 ตัว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 500 ตัวในอีก 6 เดือนข้างหน้า

 สำหรับลูกค้าไทย นักดนตรีและนักออกแบบคนนี้ บอกว่า กำลังเปิดช่องทางให้ผู้ค้าไทยเข้าเป็นตัวแทนจำหน่าย อาจเริ่มจากกลุ่ม Sax Society ในไทย ขณะเดียวกันก็จะเน้นผู้แทนจำหน่ายรายเล็ก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้เล่น ซึ่งโปรเจคแรกตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ตัว แต่เมื่อคนเริ่มรู้มากขึ้นแล้วจะบอกต่อเอง

 ในขณะที่เดินเท้าย่ำหาตลาด ปิยพัชร์เปรยว่า ตัวเขายังคงเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมอยู่ หน้าที่หลักของเขาคือผลิตสิ่งใหม่ และกำลังจะทำโมเดล เท็นเนอร์แซ็กโซโฟน และโซปราโนแซ็กโซโฟน  มาเติมเต็มตลาดเครื่องเป่าให้ครบวง

ที่มา

http://plastic.oie.go.th/ReadArticle.aspx?id=5392