สื่อนอกสดุดี " ในหลวง รัชกาลที่ 9 "
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกถึงเรื่องการอุทิศพระวรกายทรงงาน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรม แต่นอกเหนือไปจากนั้น พระองค์ยังทรงเป็นที่ยอมรับในพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องดนตรี
สื่อต่างประเทศทั่วโลก เช่น เอพี ของสหรัฐฯ หรือ ทูเดย์ ออนไลน์ ของสิงคโปร์ ต่างมีรายงานพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยระบุว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีแจ๊สอย่างมาก โดยพระองค์ทรงซื้อแซกโซโฟนมือ 2 เมื่อครั้งยังทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในราคา 300 ฟรังก์ (ราว 10,500 บาทในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)
หลังจากทรงซื้อแซกโซโฟนมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็มักจะทรงดนตรีร่วมกับพระสหายชาวไทย ณ ที่ประทับของพระองค์ในเมืองโลซานน์ ระหว่างวันหยุดของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้พระองค์ยังสามารถทรงเครื่องดนตรีได้อีกหลากหลายประเภท ทั้ง คลาริเน็ต, ทรัมเปต และเปียโน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ร่วมแสดงดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สระดับตำนานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบนนี กู้ดแมน, สแตน เก็ตซ์, เบนนี คาร์เตอร์ และ ไลโอเนล แฮมพ์ตัน ซึ่งรู้สึกทึ่งในพระปรีชาสามารถในการทรงแซกโซโฟนของพระองค์มาก ถึงขนาดถวายพระสมัญญาให้พระองค์ว่า “ทรงเป็นกษัตริย์ที่เท่ที่สุดในโลก”
ทั้งนี้ พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้มีเพียงการทรงดนตรีเท่านั้น พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทเพลงด้วยพระองค์เอง ซึ่งตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลง โดยเพลงแรกที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คือเพลง ‘แสงเทียน’ ขณะที่บทเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดคือเพลง ‘ยามเย็น’ และเพลง ‘สายฝน’
เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 6 เพลง รวมทั้งเพลง ‘อาทิตย์อับแสง’ ยังเคยได้รับการอัญเชิญไปใช้ในการแสดงละครเวทีมิวสิคัล เรื่อง ‘ปี๊ป โชว์’ (Peep Show) ในสหรัฐฯ เมื่อปี 1950 ซึ่งเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เปิดการแสดงข้ามปีตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2493 ถึงวันที่ 25 ก.พ. ปี พ.ศ. 2494 รวมทั้งสิ้น 278 รอบ
พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการยกย่องจากนักดนตรีชื่อดังหลายคน รวมทั้ง เลส บราวน์ (พ.ศ. 2455-2544) ผู้โด่งดังกว่า 70 ปีกับวง ‘เลส บราวน์ แอนด์ ฮีส แบนด์ ออฟ รีนาวน์’ ผู้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ไปขับร้องหลายเพลง ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า “พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่กว่า และหากพระองค์ไม่ได้ทรงมีงานอย่างที่มีอยู่ พระองค์ต้องทรงเป็นผู้นำวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จเป็นแน่”
พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการยกย่องจากนักดนตรีชื่อดังหลายคน รวมทั้ง เลส บราวน์ (พ.ศ. 2455-2544) ผู้โด่งดังกว่า 70 ปีกับวง ‘เลส บราวน์ แอนด์ ฮีส แบนด์ ออฟ รีนาวน์’ ผู้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ไปขับร้องหลายเพลง ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า “พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่กว่า และหากพระองค์ไม่ได้ทรงมีงานอย่างที่มีอยู่ พระองค์ต้องทรงเป็นผู้นำวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จเป็นแน่”