มนุษย์เดินทางกับแซกโซโฟน ภราดล พรอำนวย
โดย....กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
เขาโบกรถไปฝรั่งเศส เขาบรรเลงแซ็กโซโฟน เขาปลุกคนปลูกต้นไม้ แต่เขาเป็นเพียงคนตัวเล็กคิดใหญ่ที่ผสมความบ้าเล็กน้อยถึงปานกลาง ปอ-ภราดล พรอำนวย เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด เคยไปเป็นกรรมกรที่นิวยอร์ก และกล้าที่จะออกเดินทางรอบโลกกับแซ็กโซโฟน
“ผมเริ่มหัดเดินทางไปเรื่อยๆ เริ่มจากการโบกรถ” ตั้งแต่ครั้งแรกเขาแบกแซ็กโซโฟนคู่ใจออกเดินทาง โดยเริ่มจากประเทศใกล้ๆ อย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม จากนั้นทุกๆ ปีก็ขยับไกลขึ้น ไปญี่ปุ่น เกาหลี และไกลข้ามทวีปถึงอังกฤษและฝรั่งเศส โดยอาศัยการโบกรถเป็นหลักในการเดินทาง
“ตอนนั้นผมมีเงินน้อยแค่หมื่นกว่าบาท แต่อยากเห็นโลก” เขากล่าวถึงทริปเชียงใหม่-ฝรั่งเศส “ที่ผ่านมาผมเดินทางโดยวิธีโบกรถมาโดยตลอด เลยมีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราไปตามทางนั้น เราค่อยๆ ไป ระหว่างทางก็เปิดหมวกเล่นดนตรี เราก็ได้เห็นโลกอย่างที่เราอยากเห็น”
เขาเริ่มต้นจากบ้าน โบกรถไปเชียงราย เชียงของ ข้ามแม่น้ำโขงไปลาว โบกรถต่อไปจนถึงประเทศจีนผ่านคุนหมิง ต้าลี่ แชงกรีลา ปักกิ่ง ออกไปทางอูราบาตอร์ จากนั้นขึ้นรถไฟสายทรานไซบีเรียไปมอสโก เข้าลัตเวีย โบกรถเข้าเบลเยียม และจบที่ปารีส
“การออกไปเผชิญโลกโดยที่ไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร และความรู้สึกที่ได้พูดคุยกับคนแปลกหน้า ได้มองเห็นหัวใจกันและกันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คือ สิ่งพิเศษ” เขากล่าวว่า “การโบกรถมันได้พิสูจน์บางอย่างในใจของผมโดยเฉพาะเรื่องความอดทน และความเชื่อมั่นในตัวเองในผู้อื่น ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราอดทนรอคอยได้ ก็จะมีคนรับเราไปได้”
ถึงอย่างไรการเดินทางไปในดินแดนที่ไม่รู้จักหรือไปกับคนที่เราไม่คุ้นเคยย่อมเกิด “ความกลัว” เขาเล่าว่าคืนก่อนที่จะออกเดินทางไปฝรั่งเศส ขณะที่กำลังเดินกลับบ้านหลังจากเล่นดนตรี เขาเดินไป ร้องไห้ไป
“รู้สึกกลัวตาย” เขาสารภาพ “กลัวว่าจะไม่ได้กลับมา กลัวว่าจะไม่ได้กลับมาเจอแม่ รู้สึกว่าเราต้องตายแน่ๆ เดินทางไปไกลขนาดนั้น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ขอบคุณเวลาและโอกาสที่จะได้ทำตามความฝัน เพราะการเดินทางรอบโลกมันเป็นความฝันของเรา เลยกลั้นใจ กลั้นน้ำตา พอตื่นเช้ามาก็ออกไปโบกรถและลุย”
นักรณรงค์
ล่าสุดปอเพิ่งโบกรถไปรอบประเทศไทย 42 จังหวัด โบกรถ 71 คัน ใช้เวลานาน 3 เดือน เพื่อตามหาคน 5,000 คน ในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม ปอเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มมือเย็นเมืองเย็น เชียงใหม่ กลุ่มคนเมืองที่ฝันอยากเห็นเมืองร่มเย็นเต็มไปด้วยต้นไม้ จึงชักชวนเพื่อนๆ เพิ่มต้นไม้ในเชียงใหม่ แจกต้นไม้ และจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในเมืองทั่วประเทศ
“ก่อนเดินทางไกล เราต้องเดินทางใกล้ ก่อนเริ่มปลูกป่า เราก็ปลูกต้นไม้ที่บ้านตัวเอง จับมือกันกับเพื่อนบ้าน กับชุมชน แล้วเริ่มปลูก ถ้าทุกคนร่วมมือกัน 70 ล้านคนเท่ากับ 70 ล้านต้น ซึ่งก็เท่ากับป่า 7 แสนไร่”
เขาไม่ใช่นักปลูกต้นไม้ นักปลูกป่า แต่เป็นคนเชียงใหม่ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมแบบคาตา ภาพที่ต้นไม้น้อยลง แต่เมืองกลับขยายขึ้น จนมนุษย์สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่มนุษย์ก็ยังทำร้ายธรรมชาติแม้ว่าจะบอกรักธรรมชาติ อุดมการณ์ของมือเย็น เมืองเย็น มีสั้นว่าๆ “อยู่ที่ไหน ปลูกที่นั่น” ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับการปลูกต้นไม้ 800 ต้น รอบคูเมืองเชียงใหม่และ 5,000 ต้น ทั้งจังหวัด
“นอกจากจะได้ปลูกต้นไม้ลงดิน เรายังได้ปลูกต้นไม้ลงใจคน ต้นไม้ปลูกร้อยต้นอาจรอดแค่ห้าสิบต้น แต่คนหนึ่งคนสามารถปลูกต้นไม้ได้ร้อยๆ ต้น”
ปอลุกขึ้นมาปลูกต้นไม้เพื่อที่จะสื่อสารออกไปว่า ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ ทำให้เห็น ทำให้เป็นจริง ก่อนบอกคนอื่นให้ปลูกหรือก่อนบอกคนอื่นให้เชื่อ และจากวันแรกที่ต้นกล้าเริ่มผลิใบวันนี้มือเย็น เมืองเย็น ขยายรากแก้วไปยังเชียงราย ขอนแก่น แม่สอด และอีกหลายพื้นที่ในระยะเวลา 4 ปี
นักดนตรี
“ดนตรีเป็นสิ่งที่เรารัก ถ้าสิ่งที่เรารักเรียกว่าชีวิต ก็อาจจะเรียกดนตรีเป็นชีวิตของเราก็ได้” เขากล่าว และยังมองว่าเพราะดนตรีทำให้เขาได้ออกเดินทางเฉกเช่นกับมนุษย์ทั่วไปที่เกิดมาเพื่อตามหาหัวใจตัวเอง
“การเดินทางทำให้เราเข้าไปสู่รายละเอียดของการใช้ชีวิต การเดินทางทำให้เราเห็นศักยภาพของชีวิต การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่พื้นที่ที่มีจิตวิญญาณใหม่ ก็เพื่อปลุกจิตวิญญาณของเราที่ไม่เคยตื่นให้รู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งการค้นพบสิ่งใหม่มันทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น”
ก่อนที่จะเล่นแซ็กโซโฟน ปอเคยเล่นกีตาร์คลาสสิก แต่เพราะสุ้มเสียง อารมณ์ และโทนของเทเนอร์แซ็กโซโฟนตรงกับความรู้สึกที่เขาอยากจะสื่อสารออกไปจึงผูกใจไว้กับมัน
“ดนตรีมีชีวิต” เขาเชื่อแบบนั้น “เสียงดนตรีมันโบยบินขึ้นไป แต่เพื่อจากไปมีชีวิตของตัวเอง ส่วนอารมณ์และความรู้สึกที่เราเล่นยังโบยบินอยู่บนท้องฟ้า และมันก็จะค่อยๆ บินลงมาสถิตอยู่ในใจคนฟัง ไม่ว่าใครก็ตาม”
จากนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมา คือ ความสุข เขาเคยได้ยินมาว่า ความสุขคือความเพลิดเพลิน แต่เนื้อหาของความสุขถูกปรับเปลี่ยนไปตามวุฒิภาวะ อย่างตอนนี้ความสุขของเขา คือ การได้ยินหัวใจของตัวเองแล้วไปตามเส้นทางนั้น ใจอยากเล่นดนตรี ใจอยากเดินทาง ใจอยากเขียนหนังสือ ใจอยากร้องไห้ หรือใจอยากโดดเดี่ยว ทุกอย่างที่ใจต้องการเขาเรียกมันว่าความสุข
“จุดหมายคือทิศทาง ส่วนระหว่างทางคือ บีตและริทึ่ม” เขาเปรียบเทียบ “เรื่องราวที่เข้มข้นที่สุดของชีวิตหรือการเดินทาง มันมักจะอยู่ตรงกลางกระดาษ เพราะมันเป็นช่วงที่ต้องคิด พิจารณาว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เป็นช่วงที่ต้องใช้การตัดสินใจ ซึ่งอาจเป็นตัวกำหนดว่าเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่วางไว้หรือไม่ หรือจะไปถึงปลายทางนั้นอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคืออย่าหยุดก้าวต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ”
ทุกบทเพลงมีจุดเริ่มต้น มีจุดจบ มีท่อนฮุก และท่วงทำนอง ซึ่งตอบได้ยากว่าส่วนไหนสำคัญที่สุด เพราะทั้งหมดคือส่วนประกอบที่ทำให้เพลงนั้นสมบูรณ์ เหมือนกับชายคนนี้ที่ประกอบด้วยดนตรี การเดินทาง และธรรมชาติ หล่อหลอมให้ชีวิตดำเนินไปตามแต่ใจจะนำพา ซึ่งเขาเรียกเส้นทางนี้ว่า ความสุข
ที่มา
https://www.posttoday.com/ent/celeb/437078