The 5th Jean-Marie Londeix International Saxophone Competition

สวัสดีครับ ในบทความต่อไปนี้ผมจะมาพูดถึงกิจกรรม The 5th Jean-Marie Londeix International Saxophone ซึ่งเป็นรายการแข่งขัน Saxophone สำคัญสำหรับนักแซกโซโฟน เปรียบได้กับ Olympic ของทางกีฬาก็ว่าได้ โดยการแข่งนั้นจะจัดขึ้น 1 ครั้ง ในทุกๆ 3 ปี โดยการแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองบอร์โด (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2539 หลังจากนั้น เริ่มครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2551, 2554, 2557, 2560 ตามลำดับ โดยใน 4 ครั้งหลังจะจัดขึ้นที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาโดยตลอด

 

อย่างที่ทราบกันว่าเพลงแซกโซโฟนค่อนข้างฟังยาก เพราะแซกโซโฟนเป็นเครื่องที่เกิดขึ้นมายังไม่ถึง 200 ปี นักแซกโซโฟนจึงไม่มีเพลงของคนแต่งเพลงยุคก่อนๆอย่าง Ludwig van Beethoven, Wolfgang Amadeus Mozart, Frédéric Chopin เป็นต้น เพลงส่วนใหญ่จึงเป็นเพลงร่วมสมัย เช่น เพลงที่บรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีไฟฟ้าหรือดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เพลงที่ใช้เทคนิคใหม่ๆของแซกโซโฟน เพลงที่เล่นกับซาวด์ประกอบ และอีกหลายๆแบบแล้วแต่ผู้ประพันธ์จะสรรหามา ซึ่งเพลงเหล่านี้เพิ่งแต่งมาได้ไม่นาน อายุของคนแต่งเรียกได้ว่าห่างกับคนเล่นไม่มากนัก บางครั้งยังอายุน้อยกว่าคนเล่นด้วยซ้ำไป ข้อดีของการเล่นเพลงที่เพิ่งแต่งใหม่คือผู้เล่นสามารถทักเฟสบุ๊คไปถามคนแต่งเพลงได้ว่า ควรเป่าอย่างไร คิดอย่างไร เพราะอะไรถึงแต่งขึ้น และอีกหลายรายละเอียดที่นักดนตรีสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพลงจากตัวคนแต่งโดยตรง เช่นเดียวกับเพลงที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ผมเชื่อว่าผู้เข้าแข่งขันน่าจะมีการติดต่อสอบถามกับผู้ประพันธ์เพลงโดยตรงเกี่ยวกับบทเพลงผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค ส่วนตัวผมเองก็มีประสบการณ์ที่ว่านี้ในรายการแข่งขันเมื่อปี พ.ศ. 2557.

 

การแข่งขันก็จะมีทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน โดยเพลงทั้งหมดจะถูกกำหนดมาและผู้เล่นสามารถเลือกเพลงที่ถนัดจากรายชื่อเพลงของแต่ละรอบ รอบแรกจะเป็นการบรรเลงเดี่ยว ในรายชื่อแรกก็จะเป็นแบบฝึกหัด “Twenty-Five Caprices” ประพันธ์โดย Sigfrid Karg-Elert ในแบบฝึกหัดนี้ผู้เข้าแข่งขันต้องเลือกเล่น 2 บทด้วยกัน ตัวอย่างเช่น แบบฝึกหัดที่ 5 “Giga”

                จากที่เห็นในรูป โน้ตก็จะดูเรียบง่าย แต่ซ่อนอะไรไว้มากมาย ตั้งแต่ชื่อเพลง สไตล์การเล่น การตัดลิ้นแบบต่างๆ การแบ่งส่วนจังหวะ ที่บางห้องนั้นนับไม่เหมือนกับห้องอื่นๆ และความดัง-เบา ทั้งหมดนี้ดูแล้วไม่น่าจะยากสำหรับนักแซกโซโฟนที่มีทักษะอยู่บ้าง แต่ที่ยากคือการที่มีผู้เข้าข่งขันอีกหลายคนที่เลือกบทนี้มาแข่งเหมือนๆกัน และจะทำยังไงให้สิ่งที่เราเล่นออกไปนั้นฟังดูโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ นั่นแหละคือสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันต้องตีความออกมาให้ได้

 

ส่วนรายชื่อที่สองก็จะเป็นบทประพันธ์ร่วมสมัย รายชื่อเพลงทั้งหมดก็จะมีดังนี้

  • One of 9 Études for solo saxophone by Christian LAUBA or
  • Partyta (soprano saxophone) by Christian LAUBA or
  • Oxyton (baritone saxophone) by Christophe HAVEL or
  • Strata (tenor saxophone) by Colin LABADIE or
  • Discoïdal (tenor saxophone) Thierry ALLA or
  • Mysterious Morning for soprano saxophone by Fuminori TANADA or
  • The Angel of despair by Hiroyuki ITOH for alto saxophone

 เพลงในส่วนที่สองจะต่างจากส่วนแรกโดยสิ้นเชิง โดยเพลงทั้งหมดจะเป็นเพลงที่รวมเทคนิคต่างๆของแซกโซโฟนไว้ เช่น Slap Tongue, Multiphonic, Flutter Tongue เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เพลง Oxyton ประพันธ์โดย Christophe HAVEL

จากโน้ตตัวอย่างอย่าเพิ่งคิดว่าโน้ตพิมพ์ผิดนะครับ ที่เห็นนั่นถูกแล้ว และผู้เล่นต้องเล่นตามนั้นจริงๆ เพลงในหมวดนี้จะถูกเรียกว่าคอนเทมโพรารี่หรือเพลงร่วมสมัย เป็นเพลงที่ฟังยาก ใช้ทักษะที่สูงในการบรรเลงและควบคุมเครื่อง จะไม่ค่อยมีทำนองเพราะๆที่จับต้องได้ แต่จะมีเสียงที่ฟังดูแปลกๆ ไอเดียใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ เกิดขึ้นในเพลงอยู่บ่อยครั้ง โน้ตส่วนใหญ่จะดูวุ่นวาย เห็นโน้ตครั้งแรกก็คิดว่านี่เครื่องพิมพ์เสียรึป่าว เรียกได้ว่ากว่าผู้เล่นจะผ่านไปแต่ละหน้ามันช่างยากลำบาก ต้องนั่งทำความเข้าใจทีละจุด ทั้งคำศัพท์ ความดัง-เบา โน้ตแปลกๆ เทคนิคต่างๆที่มาคู่กับโน้ต และนิ้วที่ให้มาซึ่งจะเป็นนิ้วสำหรับเทคนิค Multiphonoic (การเป่าหลายเสียงพร้อมๆกัน ดังเช่นกลุ่มโน้ตตัวแรกของเพลง) ความยากคือผู้เล่นจะต้องจำนิ้วเหล่านั้นให้ได้เพราะมันไม่ใช้ระบบนิ้วที่ปรกติเหมือนโน้ตใน Scale เชื่อว่ากว่าผู้เข้าแข่งขันจะซ้อมจนจบเพลงและเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน แต่ละคนต้องซ้อมกันมายาวนานแทบจะเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น เพียงเพื่อให้การบรรเลงในการแข่งขันเป็นไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งในการแข่งจริงใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที

 ทั้งหมดนี้ก็จะมีเวลาให้ไม่เกิน 20 นาที ถ้าเวลาไม่เกินกรรมการก็จะฟังตั้งแต่ต้นจนจบเพลงโดยไม่มีการตัด สำหรับผมรอบนี้เป็นรอบที่เรียกว่าหินสุดๆก็ว่าได้ เพราะจะคัดจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดให้เหลือเพียง 20 คน และทุกๆคนก็ต่างซ้อมเพลงรอบแรกมาเรียกได้ว่าดีทุกคน และอีกอย่างรอบนี้จะเป็นการแข่งแบบที่กรรมการไม่เห็นหน้าตาของผู้เข้าแข่งขัน จะมีม่านมาคั่นอยู่ระหว่างผู้เล่นกับกรรมการ เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมการเห็นนักเรียนของตัวเอง ทุกอย่างจะตัดสินกันจากเสียงที่ได้ยินอย่างเดียวเรียกได้ว่าถ้าเก้าอี้กรรมการหมุนกลับหลังได้ก็ไม่ต่างอะไรกับรายการ The Voice ครับ หลังจากการแข่งขันรอบแรกจบลง ผู้เข้าแข่งขันจะถูกคัดเหลือเพียง 20 คน เพื่อเข้าไปสู่ในรอบต่อไป  

 

รอบสองก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นเดียวกับรอบแรก ส่วนแรกจะเป็นการบรรเลงร่วมกับนักเปียโน ดังนี้

  • Légende (version for alto saxophone and piano) by André CAPLET or
  • Légende op. 66 (alto saxophone) by Florent SCHMITT or
  • Sonate (alto saxophone, with Finale by Jean Marie LONDEIX), by Paul HINDEMITH or
  • Sonate (alto saxophone) by Pierre-Phillipe BAUZIN or
  • Sonate (alto saxophone) by Edison DENISOV or
  • Chant Premier (tenor saxophone) by Marcel MIHALOVICI or
  • Music for tenor saxophone by William KARLINS

 ผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาซ้อมร่วมกับนักเปียโน 1 ครั้งก่อนถึงการแข่งขันจริง ซึ่งถือว่าไม่มากนักสำหรับการเตรียมตัวแข่ง ผู้เข้าแข่งขันต้องทำการบ้านโดยการศึกษาโน้ตเปียโนมาด้วย เพื่อให้รู้ว่าระหว่างที่บรรเลงหรือหยุดนั้นต้องฟังอะไร และจะฟังเปียโนอย่างไร ตรงไหนของเพลงที่ควรจะให้สัญญาณแก่นักเปียโน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแข่งขันไม่น้อย ที่กรรมการจะดูการสื่อสารกันระหว่างนักแซกโซโฟนกับนักเปียโน ไม่ใช่แค่ท่าทางอย่างเดียว แต่เป็นเสียงและความเข้ากันที่ได้ยินด้วย  

 

                ส่วนรายชื่อเพลงที่สองนั้นจะเป็นการบรรเลงคู่กับอิเลคทรอนิค ดังนี้

  • Mixtion by Pierre JODLOWSKI for tenor saxophone and electronics
  • Dissidence Ib by Christophe HAVEL, for soprano saxophone and electronics
  • L’Air d’ailleurs by Fabien LEVY, for alto saxophone and electronics
  • Chymisch by Hector PARRA, for baritone saxophone and electronics

ในการแข่งขันครั้งนี้จะต่างจากครั้งที่ผ่านๆมา เพราะรอบสองที่รวมเอาเพลงอิเลคทรอนิคเข้ามาในรายการแข่งขัน ตัวอย่างเช่นเพลง Dissidence Ib ประพันธ์โดย Christophe HAVEL

บรรทัดบนจะเป็นโซปราโนแซกโซโฟน ส่วนบรรทัดล่างจะเป็นอิเลคทรอนิค โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นแหล่งกำเนิดเสียง ผู้เล่นจะต้องควบคุมอุปกรณ์ต่างๆด้วยตัวเอง เช่น แพดเดิลควบคุมแทรคของเพลง หรือเอฟเฟคต่างๆ จากโน้ตตัวอย่างเราจะเห็นเลขในกรอบสี่เหลี่ยมอยูเหนือบรรทัด 5 เส้น เช่น 7 8 9 10 11 12 เลขเหล่านี้คือลำดับของเสียงอิเลคทรอนิคจากคอมพิวเตอร์ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้เท้ากดแพดเดิลเพื่อเปลี่ยนลำดับเสียงเพลงให้ตรงกับโน้ตที่กำลังเล่นอยู่ ซึ่งการที่จะทำให้เพลงเคลื่อนไปข้างหน้าได้โดยไม่ติดขัดนั้น จะต้องอาศัยการซ้อมและการจำที่ดีอีกด้วย

หลังจากการแข่งขันรอบสองจบลง ผู้เข้าแข่งขันจะถูกคัดเหลือเพียง 5 คน เพื่อเข้าไปสู่รอบสุดท้าย รายชื่อดังนี้

  1. Carlos Ordonez de Arce จากประเทศสเปน
  2. Alastair Wright จากประเทศอังกฤษ
  3. Aiwen Zhang จากประเทศจีน
  4. Jiaqi Zhao จากประเทศจีน
  5. Evgeny Novikov จากประเทศรัสเซีย

 

รอบสุดท้ายก็จะเป็นการบรรเลงร่วมกับวงออเครสตร้า โดยทุกคนจะต้องเล่นเพลงเดียวกัน คือเพลง “Wend’kreis - for saxophone (alto + soprano saxophone) and orchestra” ประพันธ์โดย François ROSSÉ ความพิเศษของเพลงนี้คือ ผู้ประพันธ์แต่เพลงนี้ขึ้นเพื่อมอบให้แก่ Jean-Marie Londeix เพื่อใช้สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้โดยเฉพาะ เพลงนี้ต้องใช้แซกโซโฟนถึง 2 ตัวในการบรรเลง คือ โซปราโน แซกโซโฟน และ อัลโต แซกโซโฟน โดยจะสลับกันไปมาระหว่าง 2 เครื่อง และในตอนสุดท้ายผู้เล่นจะต้องเป่า 2 เครื่องพร้อมกัน อีกทั้งเพลงนี้ได้รวมเทคนิคของแซกโซโฟนไว้หลายอย่างเช่นกัน จากตัวอย่างต่อไป

จากตัวอย่างเพลง เราจะเห็นเครื่องหมายไมโครโทน (เป็นโน้ตที่อยู่ระหว่างครึ่งเสียง เช่นโน้ตที่อยู่ระหว่างเสียง ที กับ ทีแฟลต) การที่นักแซกโซโฟนเล่นตัวโน้ตที่ต่ำและเบามากนั้น เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะควบคุมให้เสียงออกเบาและตรงระดับเสียงที่โน้ตระบุไว้ จากการฟังผู้เข้ารอบทั้ง 5 คน ทุกคนสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี แต่มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่คุมเสียงให้เบามากได้ นั่นก็คือ Evgeny Novikov และ Carlos Ordonez de Arce โดยทั้ง 2 คนสามารถเริ่มโน้ตแรกได้เบามากๆโดยที่หัวเสียงฟังเคลียร์ อีกทั้งยังควบคุมการสไลด์ของเสียงผ่านไมโครโทนได้เป็นอย่างดี

จากตัวอย่างเราจะเห็นกลุ่มโน้ต Multiphonic ซึ่งถ้าอยู่โน้ตเดี่ยวๆก็ยากแล้ว แต่ในเพลงนี้ผู้แต่งได้นำมาเรียงต่อกันหลายๆตัว ทำให้ยากต่อการเสลับนิ้วกด ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของเครื่องดนตรี จากที่ฟังทั้ง 5 คน ผมชอบ Evgeny Novikov เล่นมากที่สุด เพราะเขาสามารถคุม Multiphonic ออกมาเคลียร์ โดยเขาสามารถทำให้โน้ตที่อยู่บนสุดของแต่ละ Multiphonic ได้ยินชัดเจน อีกทั้งการทำให้แต่ละโน้ตฟังดูลื่นไหลไม่สะดุดเช่นกัน จึงทำให้การแสดงของ  Evgeny Novikov ดูโดดเด่นกว่าคนอื่นๆในเรื่องของ Multiphonic

                มาถึงท่อนสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ได้โชว์ความสามารถของนักแซกโซโฟนที่สุด นั่นก็คือการเป่า 2 เครื่องพร้อมๆกัน ทั้งโซปราโน และ อัลโต แซ็กโซโฟน ดังโน้ตตัวอย่าง

จากรูปเราจะเห็นว่าในโน้ตจะมีอยู่ 3 ลาย ด้วยกัน ความหมายก็คือ ผู้ประพันธ์ให้นักดนตรีเลือกได้ว่าจะเล่นพร้อมกัน 2 เครื่องหรือว่าเครื่องเดียว ถ้านักดนตรีต้องการจะเล่น 2 เครื่องพร้อมกัน ก็จะเล่น 2 ลายบน นั่นก็คือ โซปราโน จะอยู่ลายบนสุด ส่วนอัลโต จะอยู่ลายรองลงมา แต่ถ้านักดนตรีต้องการจะเล่นเครื่องเดียวก็ให้เล่นลายล่างสุด ซึ่งจะใช้ โซปราโน เครื่องเดียว จากที่เห็นในโน้ตจะเห็นว่าโน้ตจะมีเส้นลากไปยังโน้ตที่อยู่ถัดไป ซึ่งก็คือการสไลด์เสียงจากโน้ตก่อนหน้าไปยังโน้ตถัดไป ซึ่งถ้าดูทั้ง 2 ลายที่เล่นคู่กัน จะเห็นว่าโน้ตไม่ได้เปลี่ยนพร้อมๆกัน แต่จะเปลี่ยนเสียงไม่พร้อมกัน ฉะนั้นผู้เล่นจะต้องแยกประสาทหลายๆอย่างในขณะที่บรรเลงอยู่ ทั้งโน้ตที่กดไม่เหมือนกันระหว่าง 2 เครื่องดนตรี จังหวะที่เปลี่ยนไม่พร้อมกัน อีกทั้งการควบคุมแซกโซโฟนทั้ง 2 เครื่องให้ได้เสียงที่ดีและไม่เพี้ยนอีกด้วย จากที่อธิบายมาก็จะเห็นได้ว่าต้องใช้ทักษะที่สูงมากในการบรรเลงท่อนนี้ให้ดี จากที่ฟังทั้ง 5 คนเล่น ซึ่งมีอยู่ 1 คนที่เลือกเล่นลายล่างสุดเพียงเครื่องเดียว คือ Alastair Wright ส่วนอีก 4 คนที่เหลือเลือกที่จะเล่นพร้อมกัน 2 เครื่อง สามารดูตัวอย่างท่าทางการเป่าพร้อมกัน 2 เครื่อง ได้จากรูปด้านล่าง

เมื่อการแข่งขันจบลงผู้แข่งกันที่ได้รางวัลชนะเลิศก็คือ Carlos Ordonez de Arce จากประเทศสเปน ก็คือคนในรูปนั่นเอง

 

เราจะเห็นว่าการแข่งขันจะมองทิศทางไปข้างหน้า สังเกตได้จากเพลงอยู่ในการแข่งขัน ที่ใส่เพลงในยุคปัจจุบันลงไป ไม่ว่าจะเป็นเพลงคอนเทมโพรารี่ เพลงที่ต้องใช้อิเลคทรอนิค เพลงที่นำเทคนิคสมัยใหม่มาใส่รวมไว้กับวงออเครสตร้าแบบดั้งเดิม ผมเคยได้ยินคุณ Londeix พูดไว้ว่า ถ้าเครื่องแซกโซโฟนยังเล่นเพลงเดิมๆ หรือเพลงที่แปลงมาจากเครื่องอื่นอีกที อีกไม่นานแซกโซโฟนก็จะหายไปจากโลกนี้ เหลือไว้เพียงเครื่องเก่าๆในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังศึกษาอย่างเดียว” นั่นเป็นเหตุผลหลักที่คุณ Londeix พยายามผลักดันให้วงการแซกโซโฟนมีพัฒนาการอยู่เสมอ