แซกโซโฟน ‘Vibrato’ (ไวเบรโต)
‘Vibrato’ (ไวเบรโต) คือแบรนด์แซกโซโฟนของคนไทย เจ้าของสิทธิบัตรแซกโซโฟนโพลีเมอร์ที่ฉีดขึ้นรูปแม่พิมพ์ตัวแรกของโลก น้ำหนักเบา กันน้ำ 100% ราคาเป็นมิตร ที่สำคัญ เสียงดีชนิดที่หลับตาฟังแล้ว คุณจะไม่มีทางแยกออกว่านั่นคือเสียงที่มาจากแซกโซโฟนทองเหลืองหรือพลาสติก
หลังจากสร้างปรากฏการณ์แจ้งเกิดในข้ามคืนที่งาน Musikmesse ประเทศเยอรมนี หนึ่งในสามของงานมหกรรมเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อ 9 ปีก่อน ขายหมดภายใน 3 ชั่วโมงทุกครั้งที่เปิดจอง รวมถึงมีมือแซกโซโฟนจากทั่วโลกแวะเวียนเดินทางมาเคาะประตูออฟฟิศเพียงเพื่อขอซื้อแซกโซโฟนรุ่นที่ขาดตลาด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักดนตรีและนักแต่งเพลงชื่อดังจากญี่ปุ่น
ไม่นานมานี้ Vibrato สร้างความฮือฮาแก่วงการอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวแซกโซโฟนพลาสติก DIY
ทันทีที่ Vibrato เผยภาพชิ้นส่วนสำหรับต่อประกอบแซกโซโฟนขนาด Tenor ให้คนที่ซื้อไปประกอบร่างด้วยตัวเองเหมือนต่อกันพลาของโมเดลกันดั้ม The Cloud ก็รีบนัดพบ พี่เอ่อ- ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ ผู้ก่อตั้ง Vibrato ที่ออฟฟิศย่านวัชรพล เพื่อพูดคุยถึงที่มาของแซกโซโฟนพลาสติกแบบต่อประกอบตัวแรกของโลก (Assembly Kit Saxophone) และเส้นทางตลอด 9 ปีของการสร้าง Vibrato ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะแบรนด์แซกโซโฟนระดับโลก
ยิ่งตอนที่พี่เอ่อ เจ้าของแบรนด์พูดว่า แซกโซโฟนตัวข้างหน้าเรานี้ต่อง่ายกว่าเก้าอี้ต่อประกอบของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง ขอสารภาพตามตรงว่าแทบจะเก็บอาการคันไม้คันมือไว้ไม่อยู่
เสียงเรียกเข้า
“Vibrato เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าต้องมีสิ่งนี้บนโลกนี้” อดีตนิสิตสาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบสั้นๆ เมื่อเราตั้งต้นถามที่มาของความสำเร็จ
Vibrato เกิดจากความตั้งใจของพี่เอ่อที่ไม่อยากให้แซกโซโฟนมีภาพจำว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เข้าถึงยาก
“ถ้าจะมีประเทศไหนในโลกที่มีคนเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เยอะๆ เราก็อยากให้เป็นประเทศไทย เพราะเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงแซกโซโฟน” พี่เอ่อเล่าย้อนถึงความตั้งใจแรกเริ่ม ก่อนจะเล่าว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้น้อย มาจากจำนวนครูผู้สอนและคนที่เล่นแซกโซโฟนเป็นนั้นมีน้อย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเครื่องดนตรีชนิดนี้มีราคาแพง
35,000 บาท คือราคาขั้นต่ำของแซกโซโฟนที่ผู้ปกครองจะต้องแบกรับหากลูกหลานอยากเรียนเครื่องเป่าชนิดนี้ ทั้งยังไม่มีอะไรมารับประกันว่าเด็กๆ จะล้มเลิกความตั้งใจเมื่อไหร่
เขาจึงหาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรทำให้แซกโซโฟนมีราคาแพง
นอกจากแบรนด์แล้วสิ่งที่ทำให้แซกโซโฟนราคาแตกต่างกัน ซึ่งมีตั้งแต่ 35,000 – 300,000 บาท คือค่าตอบแทนแรงงานของช่างฝีมือ ทั้งๆ ที่ต้นทุนวัสดุไม่แตกต่างกัน หมายความว่า ช่างฝีมือที่ทำแซกโซโฟนราคา 3 แสนบาทนั้น ส่วนใหญ่มีประสบการณ์เชื่อมโลหะมามากกว่า 50 ปี จึงมีความเที่ยงตรงสูงมากและทำให้ค่าแรงต่อชั่วโมงสูงตามกัน
“ดังนั้น ถ้าเราอยากจะทำให้แซกโซโฟนมีราคาถูกลง อย่างแรกต้องตัดปัจจัยเรื่องคนออกไปจากกระบวนการผลิต แล้วหาวิธีที่จะใช้คนน้อยที่สุด ซึ่งหากการขึ้นรูปด้วยโลหะแบบเดิมใช้จำนวนคนมาก เราคงต้องเปลี่ยนวิธีการขึ้นรูปของแซกโซโฟน” เราฟังพี่เอ่อเล่าด้วยตาเป็นประกาย
สิ่งที่พี่เอ่อเลือกทำคือ เปลี่ยนวัสดุจากทองเหลืองเป็นโพลีเมอร์ โดยใช้วิธีฉีดขึ้นรูปผ่านแม่พิมพ์ซึ่งให้ความเที่ยงตรงสูง ก่อนตามมาด้วยโจทย์ใหญ่ข้อต่อไป นั่นคือ แซกโซโฟนจากพลาสติกจะเป่าแล้วให้เสียงที่ดีได้หรือเปล่า
Plastic Plastic
“พลาสติกในอุดมคติที่เหมาะสมแก่การใช้ทำแซกโซโฟน คือพลาสติกชนิดที่หยุดแรงสั่นสะเทือนจากความถี่ของลิ้นเป่าได้เร็วมาก” พี่เอ่อเล่าการเคลื่อนตัวของเสียงให้เห็นภาพง่ายๆ
หลังจากเป่าลม ความถี่ของลิ้นจะทำให้เกิดการสั่น โดยพลังงานจะถ่ายทอดอยู่ภายในตัวแซกโซโฟน ซึ่งหากรับแรงสั่นสะเทือนแล้วหยุดเอาไว้ได้ พลังงานจะพุ่งไปที่ปากแซกโซโฟนได้เร็ว
จากการค้นหาสารตั้งต้นตระกูลโพลีเมอร์ พี่เอ่อพบว่าอะคริลิกคือคำตอบ เพราะมีโมเลกุลอยู่ห่างกันมากพอจึงมีพื้นที่รับพลังงานความถี่ที่สั่นสะทือนโดยได้ไม่สะท้อนออกมาที่ผิวภายนอก แต่จำเป็นต้องระวังว่าหากเก็บรับความถี่และแรงสั่นที่มากเกิน อะคริลิกก็อาจจะแตกได้
“แซกโซโฟนที่ทำจากอะคริลิกเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อ 50 ปีที่แล้วโดย Grafton ซึ่งใช้วิธีหล่อแบบแล้วเทพลาสติกเข้าไป ประกอบกับชิ้นส่วนกลไกลเล็กๆ จากทองเหลืองไขน็อตเจาะเข้าไปในตัวพลาสติก เมื่อเจอแรงสั่นสะเทือนจากการเป่าก็ทำให้พลังงานวิ่งคนละทิศคนละทาง ปัจจุบัน แซกโซโฟนของ Grafton รุ่นที่เป็นพลาสติกสีครีมมีราคาขายอยู่ที่ 1,600,000 บาท”
Vibratoจึงกลายเป็นแซกโซโฟนแบรนด์แรกของโลกที่ผลิตด้วยการฉีดพลาสติกขึ้นรูปแม่พิมพ์ (Mole Injection) นั่นคือ มีแม่พิมพ์อัดให้ติดกันด้วยแรงดัน 20 ตัน จากนั้นฉีดพลาสติกเข้าไป ข้อดีที่ทำให้วิธีนี้แตกต่างจากวิธีการเดิม คือการกำหนดแรงดันจึงได้พลาสติกที่มีความหนาแน่นสูงกว่า แม้แต่พรินเตอร์ก็ทำไม่ได้ “เคยมีคนขอให้ส่งแบบเพื่อทำ 3D Printing ด้วย จริงๆ ก็ทำได้แต่เสียงที่ออกมาจะไม่เหมือนต้นแบบ 3D Printing มีประโยชน์มากเมื่อเราอยากทดลองเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้นส่วน”
ในรุ่นแรกๆ ของVibrato ขนาด Alto ประกอบด้วยรุ่น A1 และ A1S ซึ่ง S มาจาก Solid Polycarbonate วัสดุเดียวกันกับไฟท้ายรถยนต์หรือหลังคาโรงรถใสๆ ขณะที่ A1 ใช้ Polycarbonate หรือพลาสติกคุณภาพสูง ผสมกับ ABS (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene) เสียงที่ได้จะแตกต่างกันไปตามแต่ความชอบ และเมื่อเอ่อและทีมงานศึกษาโพลีเมอร์จนพบสารประกอบอีก 20 – 30 ชนิดที่ทำให้วัสดุมีความยืดหยุ่น จึงได้พลาสติกรุ่นใหม่สำหรับ Vibrato รุ่น A1SIII
ตอนไหนที่มั่นใจว่าพลาสติกแผ่นๆ จะให้เสียงที่ถูกต้อง เราถาม
เขาตอบว่า ครั้งแรกที่ลองเคาะแผ่นพลาสติกแล้วได้ยินเสียง “แป๊กๆๆ” เขาก็ยังไม่มั่นใจ จนกระทั้งเจอคลิปทดสอบเสียงทองเหลืองของ Rampone & Cazzani แบรนด์แซกโซโฟนทำมือจากอิตาลี ที่ทดลองเคาะแผ่นทองเหลืองสามชิ้นดัง ‘กิ๊ง’ ‘แป๊ง’ และ ‘แป๊ก’ ตามลำดับ แล้วเฉลยว่าชิ้นที่ให้เสียงเพราะที่สุดคือชิ้นที่เคาะแล้วดัง ‘แป๊กๆๆ’ เขาจึงมั่นใจว่ามาถูกทาง
เสียงของลมหายใจ
“หลังจากได้พลาสติกแล้ว เราเริ่มทดลองหาเสียงที่ถูกใจจากการทดลองทำตัวต้นแบบเฉพาะส่วนคอออกมาก่อน” พี่เอ่อเล่าก่อนเป่าเทียบเสียงให้เราฟัง และก็เป็นไปตามคาด เสียงจากคอทองเหลืองและคอพลาสติกนั้นใกล้เคียงกันมาก
เมื่อพิสูจน์แล้วว่าเสียงที่ได้จากจากวัสดุ 2 ชนิดไม่แตกต่างกัน ขั้นตอนต่อมาคือการออกแบบ ซึ่งพี่เอ่อมอบกฎเหล็ก 3 ข้อแก่ทีมออกแบบและวิศวกร ดังนี้ ข้อที่หนึ่ง วิธีการเล่นต้องเหมือนกันกับแซกโซโฟนทองเหลือง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่รู้วิธีเล่นพื้นฐานที่ถูกต้อง ข้อที่สอง ต้องให้เสียงเหมือนแซกโซโฟนทองเหลือง เขาไม่ได้ต้องการทำเพื่อแข่งกับตัวราคา 3 แสน แต่เพียงแค่อยากให้คนที่ได้ยินเสียง รู้ว่านี่คือเสียงของแซกโซโฟน และข้อที่สาม ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 1 หมื่นบาท
เมื่อไม่ได้เรียนดนตรีขั้นจริงจัง ไม่ได้เรียนออกแบบ ไม่ได้เรียนบริหารธุรกิจ เขาสร้างแซกโซโฟนและทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จระดับโลกได้อย่างไร คือสิ่งที่เราสงสัย
“เราใช้หลักทางฟิสิกส์อ้างอิงการออกแบบทั้งหมดได้นะ เช่น ความยาวคลื่นเสียงที่เกิดจากความยาวของท่อ นั่นแปลว่าความยาวของท่อทองเหลืองและพลาสติกของเราต้องเท่ากัน ไม่เช่นนั้นโน้ตที่ได้จะคนละตัวกัน ความท้าทายคือเราจำเป็นต้องออกแบบชิ้นส่วนพลาสติกให้แข็งแรงเทียบเท่ากับเหล็ก” คำตอบของพี่เอ่อทำให้เรารู้จักชื่อเรียกเต็มๆ ของแพสชัน นั่นคือการมองความท้าทายเป็นโจทย์ใหม่ๆ ที่ผลักให้เขาอยากตื่นขึ้นมาทำสิ่งนี้ทุกวัน
พรจากฟ้า
“แซกโซโฟนคันแรกที่ทำเสร็จก็ยังเป่าไม่ค่อยได้หรอก ตอนนั้นเรานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 9 ด้วยองค์หนึ่ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงแนะนำแก้ไขบางจุด เราก็ปรับตามที่พระองค์ท่านรับสั่งจนกระทั่งออกมาเป็นแซกโซโฟนที่ขายอยู่จนทุกวันนี้” พี่เอ่อเล่าไปพร้อมกับบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์พักช่วงการสนทนา
คนไทยถ้าตั้งใจทำแซกโซโฟนเมื่อไหร่ ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ในช่วงที่พี่เอ่อเริ่มต้นทำ Vibrato ตลาดเครื่องดนตรีในประเทศไทยเองก็ไม่ได้เติบโตโดดเด่นมาก แล้วอะไรทำให้พี่เอ่อมั่นใจ ยอมลงทุนหลักสิบล้านไปกับแม่พิมพ์เครื่องดนตรีที่มีรายละเอียดและชิ้นส่วนมากมาย เราสงสัย
“เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเราถูกใจเสียงแซกโซโฟนของเรา เรามั่นใจว่ามีคุณภาพสู้แซกโซโฟนทองเหลืองราคา 6 – 7 หมื่นได้โดยไม่ต้องกลัว นอกจากข้อได้เปรียบเรื่องราคา เราพบว่ามีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้าเรา
“ในการขอยื่นจดสิทธิบัตรมีข้อกำหนดว่าเราต้องเผยแพร่ข้อมูลการออกแบบแซกโซโฟนแก่สาธารณะ บนเว็บไซต์ของเราเพื่อป้องกันการลอกเลียนผลิตซ้ำ ทำให้ไม่กี่วันหลังจากนั้น เริ่มมีคนส่งอีเมลเข้ามาติดต่อขอข้อมูลและรายละเอียดการสั่งซื้อ” เอ่อเล่าถึงต้นทางของอีเมลนับสิบนับร้อยมาจากข่าวสารในเว็บบอร์ดของคนรักแซกโซโฟนของประเทศต่างๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัวมาก่อน
เมื่อพบว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจแซกโซโฟนพลาสติกของเขา พี่เอ่อจึงตั้งเป้าหมายออกบูทเดบิวต์ Vibrato ที่งานแสดงเครื่องดนตรีอย่างเป็นทางการ
ในโลกของดนตรีมีงานมหกรรมดนตรีระดับโลกอยู่ 3 งาน หนึ่งในนั้นคืองาน Musikmesse ที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นงานใหญ่ที่มีขนาดเท่ากับอิมแพ็ค เมืองทองธานี 11 อิมแพ็คฯ แต่ละตึกจัดแสดงเครื่องดนตรีชิดเดียวทั้งตึก เช่น กีตาร์ทั้งตึก เปียโนทั้งตึก
“3 วันแรกเป็นการแสดงสินค้ากับผู้แทนจำหน่ายและนักดนตรี ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองเล่นในวันที่สี่ บูทของ Vibrato เป็นบูทเดียวที่มีคนต่อแถวรอตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพราะเราใหม่จริงๆ ไม่เคยมีใครเห็นแซกโซโฟนสีขาวมาก่อนในโลกนี้ แถมยังเป็นพลาสติกน้ำหนักเบา เด็กตัวเล็กตัวน้อยเข้าแถวมาดูกันเต็มเลย แล้วถามว่า ‘นี่เป็นของจริงหรือเปล่า มันเล่นได้จริงหรือเปล่า’”
เหมือนฝันที่เป็นจริง พี่เอ่อจดจำบรรยากาศและความรู้สึกทั้งหมดจากการได้เห็น Vibrato กลายเป็น International Brand ภายในข้ามคืน “วันรุ่งขึ้นทุกคนรู้จัก Vibrato รู้ว่าเราเป็นแบรนด์แซกโซโฟนมาจากประเทศไทย ชาวต่างชาติทุกคนรู้จักหมดยกเว้นคนไทยด้วยกัน จนถึงวันนี้ ยอดขายจากคนไทยคือ 0.5 ขณะที่ยอดขายอันดับหนึ่งมาจากญี่ปุ่น”
แซกโซโฟนที่นักดนตรีมืออาชีพเลือกใช้
ทั้งๆ ที่โจทย์แรกของ Vibrato คือการผลิตแซกโซโฟนน้ำหนักเบาในราคาที่เป็นมิตรเพื่อเพิ่มจำนวนนักเรียนแซกโซโฟนในวงการดนตรี แต่จากข้อมูลยอดขาย พบว่ากว่า 70% ของลูกค้า Vibrato คือนักดนตรีมืออาชีพและนักดนตรีฝึกหัดที่เล่นแซกโซโฟนจริงจัง โดยข้อดีของลูกค้ากลุ่มมืออาชีพคือทำให้พี่เอ่อและทีมได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์มากมาย ก่อนจะนำมาปรับใช้กับการออกแบบแซกโซโฟนรุ่น Tenor ซึ่งแก้ข้อผิดพลาดที่เคยเกิดกับรุ่น Alto เกือบทั้งหมด เช่น Pad ที่แข็งแรงขึ้นจากที่เคยกดแล้วยุบ รวบไปถึงกลไกเล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนอยู่
“แม้ข้อมูลยอดขายจะแสดงผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความตั้งใจแรก ซึ่งเด็กๆ หรือนักดนตรีระดับ Beginner ก็ยังคงอยากได้ Vibrato อยู่ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราเป็นเด็ก เราจะอยากได้ของที่ผู้ใหญ่ใช้เพราะมันดูเท่ ซึ่งเมื่อถึงวันที่เหล่าวัยรุ่นเห็นผู้ใหญ่ใช้ Vibrato อยู่บนเวที เขาก็จะเกิดความมั่นใจและอยากได้ขั้นมาจริงๆ” พี่เอ่อเล่าถึงกลุ่มลูกค้าอายุน้อยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลังจากเห็นไอดอลในวงการใช้ Vibrato
อยู่ต่อเลยได้ไหม
หลังจากขาย A1 มาตลอด 8 ปี เวอร์ชั่นล่าสุดของ Vibrato Alto Saxophone คือ A1SIII และเร็วๆ นี้จะมี Vibrato รุ่น A2 ซึ่งพัฒนาจากตัวแรก แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดคือการทำแซกโซโฟนที่ให้คนซื้อต่อประกอบด้วยตัวเอง
“ไม่ยากนะ ไขน็อตอย่างเดียวและทำตามคู่มือที่ให้ไปกับกล่อง เพราะเรื่องที่ใหญ่กว่าคือเรื่องการตั้งเสียง” พี่เอ่อย้ำรอบที่ 3 หลังแอบเห็นพวกเราทำหน้าไม่มั่นใจ
จะมีสักกี่ครั้งที่จะได้ต่อประกอบแซกโซโฟนของตัวเอง สิ่งที่พี่เอ่อกังวลมากกว่าการต่อประกอบคือการตั้งเสียงให้ถูกต้องซึ่งเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แม้แต่คู่ค้าตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศก็ยังสั่งรุ่นต่อประกอบแบบพร้อมใช้งานมากกว่าจะเลือกประกอบชิ้นส่วนเอง เพราะมีความเสี่ยงเรื่องเสี่ยงที่ผิดเพี้ยน แต่เขายืนยันว่าไม่ขอยอมแพ้ แม้จะต้องทำคู่มือช่วยสอนการตั้งเสียงด้วยตัวเองที่ใช้ตั้งเสียงได้จริง
“บริษัทเราเล็กมาก สิ่งสำคัญเดียวที่เรามีคือนวัตกรรม ที่ขายได้อย่างทุกวันนี้เพราะเราเป็นแซกโซโฟนขนาด Alto ที่เบาที่สุดในโลก เป็นแซกโซโฟนตัวแรกที่กันน้ำ 100% ใช้คอยสปริง ไม่ต้องการดูแลรักษามากเท่าตัวที่ทำจากทองเหลือง จะเห็นว่ามีคำว่าครั้งแรกของโลกอยู่ในนั้นเต็มไปหมด มันง่ายมากที่เราจะทำแซกโซโฟนขนาด Tenor ด้วยวิธีการเดิม แต่ปัญหาจากการผลิตแซกโซโฟนที่ผ่านมาของเรา ซึ่งเป็นปัญหาคอขวดอยู่ทุกวันนี้ คือเวลาที่ช่างฝีมือใช้ต่อประกอบแซกโซโฟน 1 ตัว และวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหานี้ได้ก็คือต้องให้ลูกค้าประกอบแซกโซโฟนของตัวเองขึ้นมา” พี่เอ่อเล่าที่มาของแซกโซโฟนต่อประกอบ ขนาด Tenor ที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเรา
“แม้จะประกอบด้วยชิ้นส่วนจำนวนมาก แต่เชื่อเถอะถ้าคุณต่อเก้าอี้ของอิเกียได้ คุณต่อแซกโซโฟนของเราได้แน่”
พี่เอ่อเล่าข้อดีของการทำแซกโซโฟน DIY สำหรับลูกค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศ ว่าวิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือประจำร้านเครื่องดนตรี เพราะหากชิ้นส่วนมีปัญหาก็ซื้อเฉพาะส่วนไปเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องส่งแซกโซโฟนซ่อมทั้งตัวอย่างที่เคย
ขณะที่ข้อดีของลูกค้าคือ นอกจากจะซื้อแซกโซโฟนในราคาที่ถูกลงเพราะไม่มีค่าประกอบแล้ว ยังได้รู้จักกลไกภายในของแซกโซโฟน เพราะทำมากับมือ สำหรับข้อดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอง คือการขยายสินค้าเปิดขายขายอะไหล่เปลี่ยนหรือชิ้นส่วนเสริมเพื่ออัพเกรดแซกโซโฟนได้ โดยไม่ต้องออกรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างอย่างที่เคย แซกโซโฟนจึงดีขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากมาย
รางวัลแด่คนช่างฝัน
ในกระบวนการทำงานทั้งหมด พี่เอ่อเล่างานส่วนที่เขาชอบที่สุดให้ฟังว่า เขาชอบความรู้สึกเมื่อนำแซกโซโฟนไปส่งถึงมือของนักดนตรีมืออาชีพ นอกจากจะชอบฟังความคิดเห็นทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เขายังชอบสังเกตแววตาของนักดนตรีขณะเล่นแซกโซโฟนของ Vibrato แล้วเก็บเกี่ยวสะสมเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการทำงาน
และในการเป็นแบรนด์ระดับโลก พี่เอ่อเล่าว่า สิ่งสำคัญนอกจากการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ก็คือการบริการ
“สิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นเสมอคือการบริการ เราพยายามให้ลูกค้าได้ทุกอย่างที่เขาต้องการ เช่น ครั้งหนึ่งเราเคยทำแซกโซโฟนสีใสทั้งตัวจำนวน 100 ตัว ซึ่งขายหมดในเวลาไม่นาน แต่ยังมีลูกค้าบางประเทศอยากได้ เราก็กำหนดจำนวนสั่งขั้นต่ำแล้วออกแบบเป็น Edition พิเศษที่มีขายเฉพาะประเทศนั้นๆ เท่านั้น เราอยากมอบความรู้สึกเอ็กซ์คลูซีฟแก่พวกเขา” พี่เอ่อเล่าก่อนจะทิ้งท้ายความสุขจากการเห็น Vibrato เติบโตอย่างทุกวันนี้
“เราสนุกกับการแก้โจทย์และคิดอะไรใหม่ๆ ใส่แซกโซโฟนของเราจนออกมาถูกใจถึงสั่งขึ้นแม่พิมพ์สำหรับผลิต Vibrato ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาทุกเช้า ได้ทดลองฟังเสียงของแซกโซโฟนจากชิ้นส่วนใหม่ๆ อย่างวันนี้ที่เราทำ Tenor สำเร็จแล้วเราอาจจะสนุกน้อยลงไป แต่ก็มีอะไรให้คิดค้นอยู่ตลอด อนาคตเราอยากทำแซกโซโฟนขนาดโซปราโนไว้สำหรับพกพา”